Woman with guitar sitting at home
Asian pensive woman sitting on sofa and holding guitar she thinking about new musical composition
การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์ และสถิติการทำแท้งในประเทศไทย พบว่า
มีการทำแท้งประมาณปีละ 300,000 คน และผู้หญิงประมาณ 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการทำแท้งในปี พ.ศ. 2552 ประมาณการณ์ว่า มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งจำนวน 123.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางจิตใจ
นอกจากนี้ เครือข่ายท้องไม่พร้อมร่วมกับเครือข่ายอาสา RSA เผยข้อมูลเชิงตัวเลขว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์  หลายกรณี เกิดจากการป้องกันที่ผิดพลาดและไม่พร้อมมีบุตร บางกรณีอาจเกิดจากฝ่ายชายไม่ยอมป้องกันและไม่รับผิดชอบลูกในท้อง หรือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถดูแลสมาชิกใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ การยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยาในผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ อย่างปลอดภัย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรนำมาศึกษาหรือพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิงว่า ผู้หญิงควรจะมีสิทธิเลือกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของตนเองได้หรือไม่
การทำแท้งภายใต้ระบบกฎหมายไทย : ตามกฎหมายไทย การยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งเป็นความผิดทางอาญา หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกโดยความยินยอมก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัส ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้ทำให้หญิงแท้งต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ก็ยกเว้นความผิดของมาตราหญิงที่ทำแท้งและผู้ทำแท้งเอาไว้ ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาต และเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิง กรณีที่หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา กรณีที่หญิงคนที่ตั้งครรภ์อายุไม่ถึง 15 ปี รวมทั้งกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ข่มขู่ เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่
นอกจากประมวลกฎหมายอาญา ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ก็ระบุเงื่อนไขที่แพทย์ทำแท้งให้หญิงโดยไม่มีความผิดไว้ว่า นอกจากการทำแท้งที่เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) และ (2) แล้ว ในกรณีที่หญิงมีปัญหาสุขภาพทางจิต หรือหญิงมีความเครียดอย่างรุนแรงเพราะพบว่าทรกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงที่จะพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง สามารถทำแท้งให้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายทั้งแพทย์ผู้ทำแท้งและหญิงที่ถูกทำให้แท้ง

การยุติการตั้งครรภ์ ความรับผิดชอบ “ร่วมกัน” ที่ฝ่ายหญิงมักต้องแบกรับฝ่ายเดียว
ความเข้าใจทั่วไป การยุติการตั้งครรภ์ไม่เพียงเป็นสิ่งผิดในมิติของกฎหมาย หากแต่ยังถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดในมิติทางศีลธรรมด้วย เวลามีข่าวหญิงยุติการตั้งครรภ์ สิ่งที่ตามมามักจะเป็นคำก่นด่าประนามทำนองว่าหญิงคนนั้น เป็น “แม่ใจยักษ์” “แม่ใจแตก” “แม่ทำบาป” ซึ่งกลายเป็นมายาคติที่ควบคุมพฤติกรรมของสังคมไปแล้ว นอกจากนี้ รายการเล่าเรื่อง “ผี”หรือแก้กรรม ก็มักมีการหยิบยกเรื่องหญิงยุติการตั้งครรภ์แล้วถูกวิญญาณเด็กติดตามมาบอกเล่าพร้อมแฝงข้อคิดในทำนอง “การทำแท้งเป็นบาป”
ท่ามกลางเสียงก่นด่าประนามหรือสั่งสอน เหตุผลที่ทำให้หญิงคนหนึ่งยอมที่จะเผชิญความเจ็บปวดทั้งที่เกิดขึ้นกับร่างกายในระหว่างยุติการตั้งครรภ์หรือทางจิตใจที่ต้องทำลาย ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชีวิต ก็มีความซับซ้อนบีบคั้นแตกต่างกันไปหญิงไทยจำนวนหนึ่งที่เลือกยุติการตั้งครรภ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเหตุผลที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ไว้บนเว็บไซต์ women on web เว็บไซต์ที่รวบรวมประสบการณ์ของหญิงที่ตัดสินยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาจากทั่วทุกมุมโลก
โดยเหตุผลที่ทำให้หญิงไทยเหล่านั้นตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ได้แก่ ความคาดหวังทางสังคมและครอบครัวซึ่งมองว่าการท้องระหว่างเรียนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หลายคนตัดสินใจและเข้าสู่กระบวนการยุติการตั้งครรภ์อย่างโดดเดี่ยวเพราะฝ่ายชายปฏิเสธความรับผิดชอบ เช่น
“พี” (นามสมมติ) แชร์ประสบการณ์ของเธอบนเว็บไซต์ว่า เวลามีเพศสัมพันธ์แฟนของเธอไม่ยอมป้องกัน หลังจากเธอตั้งท้องแฟนของเธอก็ปัดความรับผิดชอบไม่ขอรับรู้เรื่องใดๆ “พี” ซึ่งกำลังศึกษาอยู่และถูกกดดันด้วยสถานภาพของครอบครัวที่มีหน้ามีตาในสังคม จึงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์และเข้าสู่กระบวนการเพียงลำพัง “ฉันเป็นหนึ่งในหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เหตุผลคือ การเรียน และหน้าตาของครอบครัวซึ่งค่อนข้างมีหน้าตาในสังคม แม้กระทั้งพ่อแม่ฉัน ยังเล่าให้ฟังไม่ได้”
“หญิง” (นามสมมติ) ผู้ผ่านประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์อีกคนหนึ่งเล่าว่า เธอเคยถูกเพื่อนข่มขืนโดยไม่มีการป้องกัน และเคยมีเพศสัมพันธ์กับแฟนขณะที่เธอเมา หลังจากนั้นประมาณสองสัปดาห์ เธอรู้สึกอ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ เมื่อซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจก็พบว่าตัวเองท้อง ท่ามกลางความสับสนและความเคว้งคว้างจากการถูกแฟนบอกปัดความรับผิดชอบ เธอจึงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ “ไม่รู้ใครเป็นพ่อเด็ก สับสนในชีวิตตัวเอง และไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเรา และสุดท้ายยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนชะตาชีวิตตัวเอง”
การยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยา ทางเลือกหนึ่งที่ถูกควรรับฟัง : สำหรับหญิงที่เผชิญปัญหาท้องไม่พร้อมและตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ ทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านแต่เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง จึงต้องอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์และพยาบาล นั่นคือ วิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ในอายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์
โดยยายุติการตั้งครรภ์ มีชื่อว่า ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) และไมโซพรอสทอล (misoprostol)  ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล ซึ่งสูตรของยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาหลักขององค์การอนามัย (World Health Organization – WHO) สามารถใช้ในอายุครรภ์ น้อยกว่า 9 สัปดาห์ได้อย่างปลอดภัย สำหรับประเทศไทย สูตรยาดังกล่าวก็ได้ขึ้นทะเบียนยาสูตร MeFi-Miso  เมื่อเดือนธันวาคม 2557 และล่าสุดเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา MeFi-Miso ได้ขึ้นบัญชียาหลัก จ (1 ) ซึ่งหมายความว่า คนทั่วไปสามารถเข้าถึงยา ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) ไมโซพรอสทอล (misoprostol) และเมทตาบอลได้ แต่ต้องอยู่ในโครงการพิเศษของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วย งานรัฐ ที่มีการติดตามประเมินการใช้ยาตามโครงการปัจจุบันมีเครือข่าย โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิก จำนวน 85 แห่งทั่วประเทศไทย ที่หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ยาดังกล่าว ไม่มีการจำหน่ายตามร้านขายยา หรือโรงพยาบาลและคลินิกที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ 1663  คือ สายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อมและเอดส์แบบนิรนาม ซึ่งจะเก็บข้อมูลของผู้มาติดต่อรับบริการขอคำปรึกษาเป็นความลับ โดย 1663 ทำงานร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และภาคี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ให้บริการผู้หญิงที่ประสบปัญหา “ท้องไม่พร้อม” สามารถโทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาได้ สำหรับการให้บริการปรึกษาท้องไม่พร้อมและเอดส์ ล่าสุดเมื่อปี 2557 ยอดผู้ใช้บริการขอรับคำปรึกษามีจำนวนประมาณ 22,866 คน กล่าวว่า

“สายด่วน 1663 ไม่สนับสนุนการทำแท้งด้วยต่อเอง เพราะหลายคนซื้อยามาทำเองแล้วทำไม่ถูกวิธี ใช้ยามากหรือน้อยไปไม่เหมาะสมกับอายุครรภ์ เกิดผลกระทบตามมามากมาย ดังนั้น 1663 สนับสนุนให้คนที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมโทรมาปรึกษา และหากต้องการยุติการตั้งครรภ์ 1663 พร้อมส่งต่อไปยังเครือข่ายแพทย์ซึ่งเรารับรองความปลอดภัย” 

สำหรับวิธีการยุติการตั้งครรภ์มี 2 วิธี คือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ (เรียกว่า เครื่องดูดสูญญากาศ) และการใช้ยา (ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล) ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า มีความปลอดภัยสูงและทำแท้งได้สำเร็จ โดยการใช้เครื่องมือ สามารถใช้ได้ในอายุครรภ์ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ส่วนการใช้ยา สามารถใช้ได้จนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่อายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์จะมีความปลอดภัยมากกว่า นอกจากนี้ หากมีอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ขึ้นไป ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ทางการแพทย์เรียกว่า เร่งคลอด
ในเกณฑ์ของ 1663 การใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ อยู่ในราคาเฉลี่ย 3,900-5,000 บาท โดยผู้ที่มีความประสงค์จะต้องไปยังสถานที่ยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามที่ 1663 ได้จัดเตรียมไว้ สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรไปที่สายด่วนได้ โดยการสนทนาจะถูกเก็บเป็นความลับและไม่มีการเปิดเผยตัวตน
“การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เป็นสิทธิของเค้า เพราะครรภ์ที่เค้าต้องอุ้ม 9 เดือน เป็นของเค้าเอง สำหรับ 1663 ทางการแพทย์ ชีวิตของหญิง คือ ความปลอดภัย ”  อาสาสมัครของสายด่วน 1663 ทิ้งท้าย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 1663 ไม่ได้เสนอการยุติการตั้งครรภ์เป็นเพียงทางเลือกเดียว สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยังมีทางเลือกที่หญิงจะตั้งครรภ์ต่อ ดังนั้นระหว่างรอการคลอด บริการด้านความจำเป็นทั้งที่พักพิง และการรองรับหลังคลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย 1663 มีสถานที่ให้หญิงและเด็กพักอาศัยระหว่างตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ โดยมีคณะแพทย์และพยาบาลคอยดูแล นอกจากนี้ ยังมีสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หากหญิงที่ตั้งไม่พร้อม มีกำหนดคลอดออกมาแล้ว ไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ที่มา : https://ilaw.or.th/node/4297

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.4 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 5

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่