“มีผู้หญิงท้องและเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ล้างไต 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จะใช้ยาได้ไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง”

คำถามจากเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสา RSA ภาคเหนือที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ลุงหมอจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปนะครับ แต่ตอนนี้ขอคุยเรื่องโรคไตและท้องให้ฟังก่อนครับ  ประเทศไทยมีคนเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน อายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-5 เท่ากับ 4.6%-17.5% ของประชากร แต่ที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคมีน้อยมากเพียง 1.9%  ซึ่ง

ระยะที่ 1       จะยังไม่มีอาการ
ระยะที่ 2       ไตจะมีการกรองของเสียลดลงเล็กน้อย
ระยะที่ 3-5    การกรองของไตลดลงปานกลาง มาก และไตวาย
ระยะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะมีการทำงานของไตลดลงน้อยกว่า 15%

ผู้หญิงในวัยมีบุตรได้ประมาณ 3% จะมีปัญหาโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-2 และมีผู้หญิง 1 ใน 750 คน จะเป็นโรคไตระยะที่ 3-5  โรคไตเรื้อรังจะมีการทำลายของเนื้อไต ทำให้มีการเสื่อมในการทำงานของไตอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นเดือนเป็นปี ส่วนใหญ่คือ 2 ใน 3 เกิดจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตเสื่อมลงอย่างถาวร ไม่สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้  อาการระยะไตวาย เช่น ซีด บวมที่หน้าและขา หายใจหอบเหนื่อย น้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ ชัก การรักษา คือ การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมเป็นการฟอกเลือดขจัดของเสียออกไปและการล้างไตทางช่องท้อง ที่ดีกว่าคือ การปลูกถ่ายไตโดยการผ่าตัดเปลี่ยนไต การเป็นโรคไตเรื้อรังจะมีโอกาสท้องได้น้อยลงมากมีเพียง 0.3 – 2.2% เท่า

เนื่องจากโรคนี้จะขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่และการเป็นประจำเดือนทำให้ไข่อาจไม่ตก ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือขาดหายไปเลย  อารมณ์ความต้องการทางเพศลดหายไป การจะรู้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่จึงค่อนข้างยาก ถ้ามีอาการคลื่นใส้ เหนื่อย เพลีย ก็ให้ตรวจปัสสาวะเพื่อให้รู้ว่าตั้งครรภ์ กรณีปัสสาวะมีปริมาณน้อยให้ตรวจเลือดแทน ต้องระวังว่ากว่าจะรู้ว่าท้องมักช้าไปเข้าเดือนที่ 3-4 ไปแล้ว การมีท้องก่อนจะล้างไตจะมีผลลัพธ์ที่ดีกว่า ผู้ที่ล้างไตแล้วมาท้องในกรณีที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย แม่จะมีอาการไม่สบายที่เรียกว่า “ครรภ์เป็นพิษ” พบได้มากถึง 19.4% เกิดหลังท้อง 5 เดือนไปแล้ว มีความดันโลหิตสูงมากขึ้นอาจควบคุมไม่ได้ มีอาการชัก การทำงานของตับล้มเหลว  แม่จะมีอาการซีดลงมากประมาณ 35% ของผู้ที่ล้างไตต้องให้เลือดก่อนหรือขณะคลอด สำหรับตัวทารกนั้นมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูงมากจากปกติ 5% เป็น 73% หรือถึง 100% ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหายใจลำบากมีโอกาสเสียชีวิตสูงถ้าคลอดเร็วก่อน 24 สัปดาห์ ทารกมีการเจริญเติบโตช้าถึง 57% การเสียชีวิตของทารกในครรภ์เพิ่มเป็น 1 ใน 3 การแท้งเองก็พบบ่อยมาก

ผู้หญิงท้องที่ล้างไตพบว่ามีโอกาสน้อยกว่าผู้หญิงท้องทั่วไปถึง 10 เท่าที่จะคลอดลูกที่มีชีวิต ในขณะที่ท้องก็จะมีความเสี่ยงของการสูญเสียการทำงานของไตมากขึ้นตามระดับความรุนแรงของโรคไตก่อนตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ยังไม่ได้ล้างไต การตั้งครรภ์จะกระตุ้นให้อาการเลวลงจนต้องได้ทำการล้างไตเร็วขึ้นในรายที่ล้างไตอยู่แล้วเมื่อตั้งครรภ์ การล้างไตจำต้องทำเข้มข้นขึ้นด้วยการล้างนานขึ้น ทำทุกวันซึ่งจะทำให้สร้างความลำบากมากขึ้นหลายๆ อย่าง แต่ก็พบว่ามีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นต่อทั้งแม่และลูกมากกว่าวิธีล้างไตแบบเดิมเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า อายุของผู้ที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย มักจะอายุไม่ยืน มีการบันทึกว่ามีผู้หญิงอายุน้อยเสียชีวิตระหว่างการติดตามผลการรักษาในขณะที่ลูกยังเล็กอยู่  ในผู้ที่เป็นโรคระยะนี้ร่างกายยังไม่มีความสมบูรณ์พอที่จะมีบุตรและผลลัพธ์ในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และมีการล้างไตที่สรุปไว้จากการศึกษาของโอคุนเดย์และคณะ (Okundaye I & colleagues) จากศูนย์ล้างไต 930 แห่ง มีทารกแรกเกิดรอดชีวิต 42% ตายขณะคลอด 6% ตายหลังคลอด 7.5% แท้งเอง 32% ซึ่ง 38% แท้งเมื่ออายุครรภ์ 3-6 เดือน มีการเลือกทำแท้ง 10.8% การตั้งครรภ์สามารถป้องกันได้

**วิธีคุมกำเนิด ไม่ควรใช้ยาคุมแบบฮอร์โมนรวมเนื่องจากทำให้เพิ่มความดันโลหิต หลอดเลือดอุดตัน และมีผลต่อหลอดเลือด การใช้ยาคุมแบบฮอร์โมนเดี่ยวโปรเจสตินมีข้อดีกว่าและปลอดภัย การใส่ห่วงอนามัยไม่แนะนำให้ใช้ถ้าล้างไตต่อเนื่อง เพราะอาจทำให้ซีดลงจากการมีเลือดออก ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 3 ปีมีความปลอดภัยประสิทธิภาพสูง แต่ที่ง่ายกว่าคือการใช้ถุงยางอนามัย และที่เหมาะสมที่ควรเลือกคือ การทำหมันจะมีประสิทธิภาพดีกว่า

ด้วยรักและห่วงใย
ลุงหมอ

เรื่องโดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.4 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 9

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้