สังคมไทยเป็นสังคมที่อิงกับกระแส แต่ละห้วงเวลามีประเด็นที่ได้รับความสนใจแตกต่างกัน สำหรับช่วงนี้ สังคมหันกลับมาสนใจและพูดถึงข้อถกเถียงเรื่อง “การทำแท้ง” อีกครั้ง ท่ามกลางวิวาทะเรื่องความถูกต้องทางศีลธรรมจากมุมมองของคนบางกลุ่ม ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “การทำแท้ง” มีมุมมองหลายมิติ และมีปัจจัยพิจารณาประกอบหลากหลายพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเหตุผลความจำเป็นของการทำแท้งที่อยู่นอกเหนือจากการถูกล่วงละเมิด-บีบบังคับ
สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการถกเถียงคือมีหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนและให้บริการทำแท้งที่ถูกต้องตามเงื่อนไขในกฎหมายแต่ที่ผ่านมามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบทางร่างกายจากการทำแท้งด้วยตัวเองหรือหลงเชื่อบริการที่ไม่มีคุณภาพ สภาพแบบนี้ทำให้ชุมชนต่างๆ ต้องรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐออกมาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนจะได้รับบริการที่ดีแทนที่จะกลัวว่าข้อมูลซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายเหล่านี้จะถูกคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดศีลธรรมและขัดต่อความเชื่อทางศาสนาจะมาก่นด่า
ก่อนที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงและข้อถกเถียง อาจต้องพูดถึงกฎหมายอาญาประเทศไทยเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก ก่อน โดยกฎหมายกลุ่มนี้อยู่ในหมวด 3 มี 5 มาตราที่เกี่ยวข้อง
  • มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
  • มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 304 ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตาม มาตรา 301 หรือ มาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
  • มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 301 และ มาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
    (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
    (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือ มาตรา 284
    ผู้กระทำไม่มีความผิด
กฎหมายไทยระบุโทษสำหรับหญิงที่ทำแท้งเองทั้งกรณีผู้ทำแท้งยินยอมเองและไม่ยินยอม แต่มีข้อยกเว้นในมาตรา 305 ที่ระบุเหตุผลกรณีต้องทำแท้งเพราะสุขภาพของผู้หญิง กรณีทำแท้งเพราะถูกข่มขืน ล่อลวงอนาจาร, เป็นผู้อายุต่ำกว่า 15 ปี และจากค้าบริการทางเพศทั้งที่ยินยอมและไม่ยินยอม 
กฎหมายที่รัดกรอบแน่นทำให้ผู้หญิงซึ่งขอรับบริการโดยที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ข้อยกเว้นแต่จำเป็นต้องรับบริการทำแท้ง เมื่อแพทย์ไม่สามารถให้บริการได้จึงจำเป็นต้องหาบริการทางเลือกอื่น โดยยินยอมรับบริการที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และบางครั้งการเลือกรับบริการทางเลือกทำให้ถึงแก่ชีวิต
เมื่อปีพ.ศ.2548 แพทยสภาจึงออกข้อบังคับแก้ไขเพิ่มเติมให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เพิ่มจากเดิมอีก จากเดิมที่ระบุเรื่องสุขภาพกาย เพิ่มเป็นสามารถกระทำได้เพื่อสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ด้วย และเพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายมองว่าข้อบังคับของแพทยสภา เป็นระเบียบทางวิชาชีพที่สามารถออกระเบียบได้ แต่แพทย์บางส่วนอาจยังกังวลใจเรื่องการใช้งานข้อบังคับด้านวิชาชีพในการทำแท้งจริงที่อาจยังไม่สอดรับกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ได้บอกให้มีการตีความเพิ่มได้ ปัจจุบัน มีรายงานว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างพูดคุยเจรจาตีความแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 305 อยู่
นอกเหนือจากกระบวนการทางกฎหมายยังมีหลายกลุ่มที่รวมตัวกลายเป็นพลังทางสังคมสู่แคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และต้องการทำแท้งอันเนื่องจากปัญหาตั้งต้นที่แตกต่างกันในชื่อ “ท้องไม่พร้อม ทำแท้งได้ ถูกกฎหมาย-ปลอดภัย” ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 3,000 ราย (วันที่ 18 พ.ค.) จากเป้าหมาย 5,000 ราย
อัปเดตการเคลื่อนไหว
หนึ่งในแกนนำที่ขับเคลื่อนแคมเปญคือคุณสุพีชา เบาทิพย์ ตัวแทนกลุ่ม “ทำทาง” คุณสุพีชา แสดงความคิดเห็นว่า มาตรา 305 เป็นการปกป้องแพทย์ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนเสียงของผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม ในขณะที่มาตรา 301 ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้ง หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งเป็นความผิด เท่ากับว่าบอกสังคมว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย  เป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับเมื่อพิจารณาจากกฎหมายตัวนี้ ทำให้ผู้หญิงถูกตัดสินด้วยทัศนคติทางสังคม หรือแนวคิดทางศาสนา และหลายทางซึ่งรวมถึงกฎหมายนี้ด้วย
กลุ่มทำทางจึงร่วมกับเครือข่ายหลายแห่ง อาทิ “เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม” และ “เครือข่ายแพทย์อาสา” ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินตอบกลับมาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าไม่สามารถยื่นให้ได้
“ส่วนตัวดิฉันเองไม่ค่อยชัดเจนว่าเขาแปลว่าอะไร แต่คิดว่าเขาไม่เห็นด้วย เขาอาจบอกว่าไม่ได้มองเห็นประเด็นตามที่เราเห็นว่าเรื่องนี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 บอกว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกเป็นสิ่งผิด แต่จริงๆ เรื่องนี้ถ้าจะเอาผิดก็ต้องเอาผิดผู้ชายด้วยหรือเปล่า แต่เราไม่ได้บอกว่าใครผิด เราบอกว่าไม่ต้องมีใครผิดเลย และมันยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ซึ่งบอกว่า ห้ามกีดกันโดยเหตุแห่งเพศ สุขภาพ เชื้อชาติ ศาสนา และตอนนี้เขาตอบกลับมาว่าไม่ยื่นต่อให้ เราก็เตรียมตัวไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีกำหนดแน่ชัด” คุณสุพีชา กล่าว
ความพยายามปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เปิดกว้างมากขึ้นยังต้องเดินหน้าต่อไป ขณะที่การเดินหน้าหาคำตอบเรื่องยุติการตั้งครรภ์จากสาเหตุคุมกำเนิดผิดพลาด ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความกฎหมายจะเห็นสอดคล้องกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องหรือไม่ ส่วนการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีกำหนดแน่ชัดว่าจะขับเคลื่อนเมื่อไหร่
ถึงแม้การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันยังคงอยู่กลางเส้นทางที่ขรุขระ แต่สำหรับการเคลื่อนไหวในประเทศไทยยังพอมีสัญญาณเชิงบวกอยู่ โดยคุณสุพีชา เล่าว่า ในกลุ่มเครือข่ายที่เคลื่อนไหวก็มี 2 ฝั่งระหว่างกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งแต่สนับสนุนทางเลือกการเลี้ยงดูอื่น เช่น สถานสงเคราะห์ หรือการรับบุตรบุญธรรม กับกลุ่มที่ต้องการทำแท้ง

ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งเป็นขบวนการที่ร่วมมือกันทำงานได้ แตกต่างจากสภาพในต่างประเทศซึ่งขัดแย้งกันเองและแบ่งแยกแนวทางกันอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีที่การเคลื่อนไหวเป็นหัวก้าวหน้าโดยมองว่าผู้หญิงมีทางเลือกที่จะตัดสินใจ ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็จะสนับสนุนให้มีระบบที่ดีที่สุดรองรับ ปลอดภัย และลุกขึ้นเดินไปในสังคมต่อได้

สาธารณสุขไทยกับ “ความกลัว” การทำแท้ง
ด้านหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำเข้ายาและซื้อยาทำแท้ง ควบคุมการใช้ยา และจัดการประชุมอบรมสัมมนา เชิญชวนแพทย์เข้ามาเพิ่มความรู้ สร้างความเข้าใจ ปัจจุบันนี้มีแพทย์ที่ผ่านอบรมและรับยาไปใช้ในโรงพยาบาลของตัวเองกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

หลังจากนั้น สปสช. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีงบประมาณสนับสนุนแพทย์อาสาและโรงพยาบาลซึ่งขึ้นทะเบียนรับยาและให้บริการกลับมา สปสช.สนับสนุนผู้รับบริการรายละ 3,000 บาท เท่ากับมีหน่วยงานสาธารณสุขรับรองยาที่ปลอดภัย และมีหน่วยงานยอมรับแล้ว
แพทย์อาสาเองก็สนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 301 เพื่อให้ระบบชัดเจนเพิ่มขึ้นจากข้อบังคับของแพทยสภา นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังแพทย์ส่วนอื่นที่สามารถทำแท้งได้แต่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มที่นำเสนอทางเลือกการทำแท้งเพื่อสุขภาพกายและจิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแพทย์และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมหลักร้อยแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของคนในสังคม และความเข้าใจเกี่ยวกับการทำแท้ง (ที่จำเป็นด้วยเหตุผลทางร่างกายและจิตใจ) ว่ายังเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
คุณสุพีชา ที่ทำงานด้านรณรงค์ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวยังเหลือเส้นทางอีกไกลที่ต้องก้าวเดินโดยเฉพาะแง่มุมทางสังคม และศาสนา การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นฝ่ายพูด ที่ผ่านมา กลุ่มผู้เคลื่อนไหวเปิดเพจในเฟซบุ๊ก นำเรื่องราวของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไปโพสต์เผยแพร่ข้อมูล แต่กลับพบว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อประสบการณ์ของผู้หญิง บางส่วนยังวิจารณ์เชิงลบและวิจารณ์อย่างรุนแรง
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายการทำแท้งในไทยยังไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างชัดเจน แต่การเคลื่อนไหวทำให้เห็นช่องทางมากขึ้นหลังจากเริ่มต้นขับเคลื่อนมาระยะหนึ่ง คนในสังคมเริ่มมีความเข้าใจ แต่ยังเหลือเส้นทางให้ต้องเดินอีกยาวไกล แม้ว่าผลลัพธ์ในขั้นต้นอาจไม่ถึงระดับที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวต้องการ แต่เชื่อว่า จากสัญญาณที่เห็น มีโอกาสที่การตีความและโอกาสจะเปิดกว้างมากขึ้นอีกในอนาคต

ที่มา : https://gmlive.com/safe-abortion-case-of-birth-control-failure

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 3.5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 2

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้