โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ดำเนินงานโดยความร่วมมือระหว่าง เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ภายใต้สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มีเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายบริการทั้งตั้งครรภ์ต่อและยุติการตั้งครรภ์ ให้มีความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ ให้บริการได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตร รวมทั้งการแสวงหาความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนในระบบต่อไป โดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับโครงการสายปรึกษาทางเลือกท้องไม่พร้อม 1663 ระยะเวลาดำเนินการ 24 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563

มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสา RSA (Referral System for Safe Abortion) สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ การรณรงค์ และเวทีเสวนาต่างๆ จัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การพัฒนาการดำเนินงานด้านการป้องกันดูแลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลากหลายและจำเป็นต้องมีการประสานงานให้เกิดการพัฒนางานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาโครงการให้บรรลุผล นำเสนอแผนงานโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานป้องกันดูแลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและผู้หญิง ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำไปพัฒนากลไกประสานการดำเนินงาน สร้างข้อสรุปแนวทางการประสานงานและการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการป้องกันดูแลการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นร่วมกัน โครงการฯ จึงจัดการประชุมเปิดตัวโครงการในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562  ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 70 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานดังต่อไปนี้

หน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข: กองบริหารการสาธารณสุข กองกฎหมาย กองการพยาบาล และ สำนักสารนิเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ: สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมอนามัย: สำนักส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข และศูนย์สื่อสารสาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา: สำนักยา สำนักผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข , หน่วยงานภายใต้กระทรวงหลักตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.. 2559 กระทรวงศึกษาธิการ: ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์: กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 5 ด้าน ในคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.. 2559 : ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา (ด้านการศึกษา) นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา (ด้านการสาธารณสุข) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ (ด้านจิตวิทยา) นางสาวสุภัทรา นาคะผิว (ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของวัยรุ่น) และนางเพลินพิศ ศรีภพ (ด้านการสังคมสงเคราะห์) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , หน่วยงานด้านกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด , สายด่วนสุขภาพ ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนสังคม 1300 และสายด่วน สปสช. 1330 , องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสภาการพยาบาล ,

ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ได้แก่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก รศ.พญ.อรวรรณ คีรีวัฒน์ ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ พล..รศ.นพ.วิโรจน์ อารีย์กุล และ รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ,

เครือข่ายอาสา RSA ได้แก่ นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล นพ.อมร แก้วใส นพ.วรชาติ มีวาสนา นพ.สมชาย พีระปกรณ์ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้แก่ บ้านพักฉุกเฉิน บ้านสุขฤทัย บ้านพระคุณ กลุ่มทำทาง ฯลฯ วิทยากรและทีมผู้ดำเนินงานโครงการ

ทั้งนี้การจัดการประชุมเปิดตัวโครงการดังกล่าวได้จัดการแถลงข่าว การสนับสนุนและขับเคลื่อนการเข้าถึงเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเวลา 11.00 – 12.00 ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ทันตแพทย์ศิริเกียรติ  เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

รับชมคลิปวิดิโอได้ที่นี่

การขับเคลื่อนนโยบายยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
และการพัฒนาเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย RSA
Referral System for Safe Abortion
โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 พญ.พรรรพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการสนับสนุนและขับเคลื่อนการเข้าถึงเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมประมาณ 1 แสนรายต่อปี โดยเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเพียงแค่หมื่นกว่าต่อปีเท่านั้น ที่เหลืออาจยุติการตั้งครรภ์แบบไม่ปลอดภัย หรือเกิดการตั้งครรภ์ต่อทั้งที่ไม่พร้อม ทั้งนี้ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจะดำเนินการภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาและข้อบังคับของแพทยสภา คือ การถูกข่มขืนกระทำชำเรา และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดา โดยการยุติการตั้งครรภ์ หากอายุครรภ์มากกว่า 9 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถใช้วิธีกระบอกดูดสุญญากาศไฟฟ้า แต่หากอายุครรภ์น้อยจะมีการใช้ยา

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การพัฒนาการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งการใช้ยาเป็นทางเลือกในการช่วยลดอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย และหลายประเทศที่ดำเนินการก็เห็นผลว่า ลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและผู้รับบริการ ลดความแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยปัจจุบันยาดังกล่าวได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีแนวปฏิบัติในการนำเข้ายา และจะต้องมีการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลและแพทย์ที่จะใช้ยาดังกล่าวต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัย การจัดทำเครือข่ายจัดบริการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์อาสา 130 คน และทีมสหวิชาชีพอาสา 348 คน รวมถึงสายปรึกษาทางเลือกท้องไม่พร้อม 1663 เพื่อให้คนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ได้เข้าถึงบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ต่อ ซึ่งต้องมีระบบดูแลมารองรับให้เป็นการตั้งครรภ์คุณภาพ หรือการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัย และต้องดูแลต่อเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำหรือทำแท้งซ้ำ

แผนงานโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร
สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกฯเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กับเครือข่ายอาสาRSA โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสา RSA พัฒนาเว็บไซต์ rsathai.org เพื่อให้ข้อมูลสิทธิทางเลือกที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเข้าถึงการขายยาทำแท้งเถื่อนบนอินเทอร์เน็ต จากการทำงานด้านนี้มา พบว่า

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม กว่า 90% ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จึงต้องขับเคลื่อนให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าถึงทางเลือกและบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายเรื่องของการทำแท้ง แต่ก็ยังมีปัญหา โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลได้รับคำร้องแล้ว คือ ขอให้ยกเลิกมาตรา 301 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะแม้จะเข้าถึงบริการแบบปลอดภัย ก็สามารถถูกจับเอาผิดได้

รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า และขอให้ปรับปรุงมาตรา 305 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า หากเป็นการกระทำของแพทย์ จำเป็นต้องเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือหญิงตั้งครรภ์จากทำผิดกฎหมาย เช่น การข่มขืน ให้ถือว่าไม่มีความผิดนั้น แต่ก็มีการจับแพทย์ที่ให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีแพทย์อาสา ถูกตำรวจตั้งข้อหาแล้ว 2 คน เพราะมีการตีความเรื่องมีผลต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เฉพาะทางกาย แต่ไม่รวมสุขภาพทางจิต โดยอ้างว่าข้อบังคับของแพทยสภา ที่ระบุเรื่องปัญหาสุขภาพทางจิตสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น ไม่ใช่กฎหมาย

การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร
สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และร่วมขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
โดย ทันตแพทย์ศิริเกียรติ  เหลียงกอบกิจ
ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ตั้งแต่ ต.ค. 2561 – ก.ย. 2563 เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง โดยพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสาส่งต่อฯ สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 3

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้