ปรากฏการณ์ท้องไม่พร้อมและการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่คนเผชิญสถานการณ์หรือมีประสบการณ์มาก่อนเลือกที่จะไม่พูดถึง หรือเปิดเผยกับคนทั่วไป ทัศนัย ขันตยาภรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มของคนที่จะไม่พูดถึงประสบการณ์นี้ว่า

“เรื่องนี้มันเป็นเรื่องไม่พูดกัน…ส่งผลทำให้คนมีโอกาสที่จะแสวงหาองค์ความรู้เรื่องนั้นน้อย เพราะฉะนั้น (คนที่ไม่เคยเชิญสถานการณ์) พูดบนข้อจำกัดของตัวเอง ในส่วนที่ตัวเองรับรู้มา..กรอบหนึ่งมันเป็นกรอบเรื่องของกฎหมาย อย่างที่ว่า ถ้าคนไม่รู้จริงเรื่องกฎหมาย ก็จะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดหมดเลยเรื่องแบบนี้…ผู้หญิงที่ประสบปัญหาตรงนี้เขาไม่ลุกมาพูด เพราะมันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว จบก็ต้องการให้มันจบ จบแบบไม่มีใครรู้ด้วย..

เลยไม่ได้เกิดการพูดต่อเนื่องไป…ตัวของผู้ที่ประสมปัญหาเองก็ไม่ต้องการที่จะทำให้เป็นเรื่องสาธารณะด้วย ก็ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นเรียนรู้ชีวิตของคนที่ประสบมาด้วย จะต่างจากเอตส์ (ที่ผู้ติดเชื้อได้นำเสนอหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ในสังคมได้รับรู้)” *(ทัศนัย ขันยาภรณ์ , สัมภาษณ์, 15 ธันวาคม 2552)

ข้อสังเกตนี้สะท้อนสถานการณ์ยากลำบากของหญิงที่เผชิญสถานการณ์ ความไม่พร้อมของการตั้งครรภ์มีฐานมาจากการละเมิดกติกาเรื่องเพศ และการเลือกจะไม่ท้องต่อขัดแย้งกับการนิยามความเป็นหญิงในฐานะเพศแม่ที่สละทุกอย่างในชีวิตเพื่อบทบาทนี้ได้

ทำให้สถานการณ์และการเลือกทางเลือกนี้ถูกมองเปินความผิดใหญ่หลวงที่มาพร้อมกับการดีตราประณามความกังวลว่าจะถูกตัดสิน หรือมองในทางลบ และทำให้คนที่มีความสำคัญในชีวิตผิดหวัง ทำให้ผู้หญิงเลือกจะไม่พูดถึงสถานการณ์กับคนอื่นแม้แต่คนใกล้ชิด

การท้องไม่พร้อมและการทำแท้งเป็นสถานการณ์ที่ซ่อนเร้นได้ เพราะไม่บอกให้รู้คนอื่นก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงกำลังเผชิญสถานการณ์นี้อยู่ ผู้หญิงจำนวนมากมายจึงเลือกจะเงียบงันมากกว่าจะพูดถึงความยากลำบากหรือประสบการณ์ของตนเองอย่างเปิดเผย

สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงมากมายเผชิญสถานการณ์อย่างโดดเดี่ยว เข้าไม่ถึงการให้การปรึกษาและบริการ รวมไปถึงการสุ่มเสี่ยงกับวิธีการทำแทังที่ไม่ปลอดภัย เพื่อจะไม่ให้คนอื่นได้รับรู้สถานการณ์ท้องไม่พร้อมของพวกเธอ การปิดบังซ่อนเร้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตีตราประณามทำให้คนในสังคม ทั้งที่เคยและไม่เคยเผชิญสถานการณ์เข้าใจไปว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องผิดปกติ เกิดขึ้นน้อยครั้ง และเป็นเรื่องของหญิงเลวจำนวนไม่มาก**(Adam, “Bad Mother,” 184.)

ภาพที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเลือกทำแท้งในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตหรือการจัดการการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงมากมายในหลายสังคม ทำให้การโต้เถียงว่าด้วยกติกาและนโยบายที่เกี่ยวกับการทำแท้งตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจผิด และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงหลายกลุ่ม

ที่มา : เถียงกันเรืองแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม หน้า 212-214 โดย อาจารย์ชลิดาภร ส่งสัมพันธ์

ไม่ว่าจะท้องต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์ ผู้หญิงมีสิทธิตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง เข้าถึงบริการที่สอดคล้องกับทางเลือก ในฐานะคนในสังคมเรามีส่วนช่วยด้วยการเปิดใจ เข้าใจ ไม่ตัดสิน ตีตราประณามความไม่พร้อมของใคร …

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.2 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 5

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้