แนวคิด เหตุผล และข้อเท็จจริงในการปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

เสนอโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และ เครือข่ายอาสา RSA (Referral for Safe Abortion) วันที่ 18 มีนาคม 2563

(1) สภาพปัญหาภายใต้การบังคับใช้กฎหมายนี้ในประเทศไทย 

  1. การยุติการตั้งครรภ์ หรือ การทำแท้งที่ปลอดภัย ถือเป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันผู้หญิงไม่ให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย 
  2. กว่า 60 ปีที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ ส่งผลให้มีผู้หญิงที่ต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ และติดเชื้อในกระแสเลือดจากบริการที่ไม่ปลอดภัย ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขและปัญหาสิทธิมนุษยชนที่นานาประเทศจับตามอง ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการตายของหญิงตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยติดอันดับโลก 
  3. กฎหมายนี้ทำให้ผู้หญิงมีความผิดทางอาญาเมื่อเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์โดยมีข้อยกเว้นภายหลัง ส่งผลให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาจึงไม่กล้าเปิดเผยตนเองเพื่อรับบริการปรึกษา แต่แสวงหาบริการ “ใต้ดิน” ดังเห็นได้จากการมีคลินิกทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย และมีการขายยาทำแท้งออนไลน์ ข้อเท็จจริงนี้ยืนยันได้จากการสืบค้นกูเกิลด้วยคำหลัก เช่น ทำแท้ง ท้องไม่พร้อม ยาทำแท้ง ฯลฯ และการให้บริการปรึกษาของสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 ที่พบว่าผู้หญิงที่โทรศัพท์มาปรึกษาจำนวนมากเคยหาช่องทางการทำแท้งให้ตนเองด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัยก่อนที่จะโทรศัพท์มาปรึกษา 
  4. กฎหมายนี้มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ทำแท้ง ทำให้แพทย์กลัวว่าจะมีความผิดทางอาญาเมื่อให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แม้ว่ากฎหมายจะมีเงื่อนไขให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในบางกรณี แต่ก็เป็นภาระของแพทย์ที่จะต้องมาพิสูจน์ถูกผิดตามกระบวนการยุติธรรมในภายหลัง แพทย์จำนวนมากจึงเลี่ยงที่จะไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์แก่หญิง ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองว่าสามารถกระทำได้ตามมาตรฐานการยุติการตั้งครรภ์ 
  5. กฎหมายเอาผิดกับผู้ทำแท้งเถื่อนที่ไม่ได้กระทำโดยแพทย์ได้ยากมาก โดยระบุความผิดได้ต่อเมื่อการทำแท้งสำเร็จเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมารัฐไทยกลับเอาผิดจากผู้ทำแท้งเถื่อนที่คร่าชีวิตและสุขภาพของผู้หญิงได้จำนวนน้อยมากและฐานความผิดก็ไม่สมเหตุสมผล ในขณะที่เครือข่ายอาสา RSA พบว่า กฎหมายนี้ได้ถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการข่มขู่หรือเรียกรับผลประโยชน์จากแพทย์ที่ให้บริการมากกว่ามุ่งไปที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้หญิง 
  6. ประมวลกฎหมายนี้ไม่สอดคล้องต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน เนื่องจาก ในอดีตเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ จึงไม่ได้ระบุเหตุแห่งการยุติการตั้งครรภ์ไว้ภายในประมวลกฎหมายอาญา และช่วงเวลาที่ตราประมวลกฎหมายอาญานั้น ประเทศไทยยังไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ รวมถึงโรงพยาบาลที่ครอบคลุมเกือบทุกอำเภอ อย่างในปัจจุบัน การทำแท้งจึงมีความอันตรายสูงอยู่ แต่ปัจจุบันประเทศไทยได้มีพัฒนาการทางด้านการแพทย์จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แพทย์ไทยสามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอโดยที่มีความปลอดภัยสูงมาก ด้วยการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 หรือการใช้เครื่องดูดสุญญากาศทดแทนการขูดมดลูกตามแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก 
  7. ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าการทำแท้งถือเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่บุคคลสามารถกระทำหรือไม่กระทำการใดต่อชีวิตของตัวเองตราบเท่าที่ไม่ไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น การปฏิเสธสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่เหมาะสมอย่างมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

(2) ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการปรับปรุงบทบัญญัติความผิดฐานทำแท้ง  

  1. เจตนารมณ์ของกฎหมาย ควรคำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของผู้หญิงเป็นสำคัญ เพื่อการเข้าถึงและได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทางการแพทย์ มุ่งลดอัตราการเจ็บป่วยและตายของหญิงตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นสำคัญ  
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้การรับรองไว้ใน มาตรา 28 
  3. ผู้หญิงในฐานะประชาชนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ตามมาตรา 55 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กล่าวว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง….” 
  4. ควรให้เวลาและโอกาสในการตัดสินใจทางเลือกต่อเนื้อตัวร่างกายตัวเองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บุคคลสามารถตัดสินใจกระทำต่อร่างกายของตนตราบที่มิได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะการที่ผู้หญิงทราบว่าตนเองตั้งครรภ์จะต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ขาดความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ หรือในกลุ่มที่คุมกำเนิดอยู่แล้วแต่เกิดความผิดพลาด 
  5. ปัจจุบันเทคโนโลยีการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก ผลการศึกษาระดับนานาชาติในระหว่าง พ.ศ. 2554-55 ที่ศึกษาในประเทศไทย เวียดนาม อินเดีย และสวีเดน พบว่าจากเดิมที่มีความปลอดภัยสูงมากที่อายุครรภ์ 9-12 สัปดาห์ ได้เพิ่มขีดความปลอดภัยสูงมากในอายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์ อีกทั้งวิทยาการแพทย์และเทคโนโลยีการใช้ยาในปัจจุบัน ก็มีความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในอายุครรภ์ที่สูงกว่านั้น 
  6. ผู้หญิงไทยควรได้สิทธิในการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาไปเพื่อความปลอดภัยและชีวิตของผู้หญิงเป็นสำคัญ แทนที่จะต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ตกเลือด เสียชีวิตจากการใช้วิธีการที่ล้าสมัยและไม่ปลอดภัย ที่กระทำโดยผู้ทำแท้งเถื่อนที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 
  7. ควรเพิ่มบทลงโทษต่อผู้ทำแท้งที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ครอบคลุมทั้งที่ทำแท้งสำเร็จและยังไม่สำเร็จ รวมทั้งผู้ขายและจัดส่งยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากการกระทำเหล่านั้นขัดต่อการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของผู้หญิง 
  8. กระบวนการยุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบัน นอกเหนือจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ที่เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยาเพื่อการรักษาแล้ว ยังมีบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาด้วย เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จึงควรเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ให้บริการภายใต้การควบคุมของแพทย์ด้วย 
  9. ควรให้ความคุ้มครองสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง โดยการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของการคุมกำเนิดโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือ ผู้ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 

    • ข้อมูลจากสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 พบว่า ในปี 2562 มีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากการคุมกำเนิดผิดพลาดร้อยละ 36.05 (8,517 ราย) สาเหตุจากความรู้ความเข้าใจการคุมกำเนิดของผู้หญิงเอง หรือจากบุคลากรทางสาธารณสุข 

    • ข้อเท็จจริงในเรื่องการคุมกำเนิดคือ ไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดๆ ที่มีประสิทธิภาพ 100% ผู้ที่คุมกำเนิดจึงยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ 
  10. ควรสร้างสมดุลกับการคุ้มครองสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ที่จะเกิดรอดเป็นทารกและเป็นบุคคลตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ อายุของตัวอ่อนในครรภ์ มีความสัมพันธ์กับโอกาสรอดชีวิตเมื่อคลอดเป็นทารก ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ส่งผลให้ยายุติการตั้งครรภ์ขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักแห่งชาติที่อายุครรภ์ ถึง 24 สัปดาห์ โดยโอกาสรอดชีวิตของตัวอ่อนที่อายุครรภ์ต่าง ๆ มีดังนี้ 
    • อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิต 0% 
    • อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิต 0-10% 
    • อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิตถึง 40-70% 
  11. ควรเพิ่มข้อบ่งชี้การยุติการตั้งครรภ์ในประเด็นสุขภาพจิต เพื่อให้สอดคล้องกับการที่องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของคาว่า “สุขภาพ” ที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ และสังคม 
  12. ควรเพิ่มข้อบ่งชี้การยุติการตั้งครรภ์ในเรื่องความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ก้าวหน้าขึ้นมาก ประกอบกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่มีเป้าหมาย “การเกิดที่มีคุณภาพ” แต่การยุติการตั้งครรภ์อันเนื่องความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ยังใช้การตีความผ่านข้อบังคับแพทยสภาในด้านปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 

(3) ข้อเสนอการปรับปรุงบทบัญญัติความผิดฐานทำแท้ง ของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และ เครือข่ายอาสา RSA 

แนวคิดหลักในการปรับปรุงกฎหมายคือคำนึงถึงสิทธิ สุขภาพ ความปลอดภัยและชีวิตของผู้หญิง ให้มีความสมดุลกับตัวอ่อนครรภ์ในครรภ์ โดยให้การทำแท้งเป็นบริการสุขภาพที่อยู่ภายใต้ระบบบริการสุขภาพโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขยายข้อบ่งชี้การยุติการตั้งครรภ์ให้สอดคล้องนิยามสุขภาพ การวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ และพัฒนาการทางเทคโนโลยียุติการตั้งครรภ์ที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีบทลงโทษทางอาญามุ่งเน้นไปที่การเอาผิดผู้ทำแท้งที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการทำแท้งไม่ปลอดภัยที่ส่งผลให้ผู้หญิงบาดเจ็บ ตกเลือดและเสียชีวิต ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย 

สาระสำคัญ มีดังนี้ 

  1. ผู้หญิงควรมีสิทธิยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิดทางอาญา 
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) หรือผู้อยู่ใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ควรมีความผิดทางอาญา เพราะการยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพ 
  3. การทำแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ขึ้นไป ควรต้องอยู่ภายใต้ข้อบ่งชี้ดังนี้ 
    3.1 สุขภาพทางกาย 
    3.2 สุขภาพทางจิต 
    3.3 ตัวอ่อนในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะพิการ หรือโรคพันธุกรรม 
    3.4 ตั้งครรภ์จากเนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือ มาตรา 284 
    3.5 การคุมกำเนิดล้มเหลวที่อยู่ภายใต้แพทย์ หรือ ผู้อยู่ภายใต้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เช่น ทำหมันชาย ทำหมันหญิง ใส่ห่วง หรือฝังยาคุมกำเนิด 
  4. การทำแท้งโดยผู้อื่น ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) หรือ ไม่ใช่ผู้อยู่ใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ส่งผลให้ผู้หญิงได้รับอันตรายหรือเสียชีวิต ต้องได้รับความผิดทางอาญา ไม่ว่าทำแท้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม 
  5. ผู้ที่ทำแท้งโดยที่ผู้หญิงไม่ยินยอม ควรมีความผิดทางอาญา ไม่ว่าผู้ทำจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือไม่ใช่ก็ตาม 

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.9 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 15

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้