ท้องไม่พร้อมในสถานการณ์ โควิดระบาด มีความยากลำบากอย่างไร ? แล้วเพราะอะไร… เราจึงต้องป้องกัน? นักสังคมสงเคราะห์อาสา RSA มีเรื่องเล่ามาแบ่งปัน

“จันทร์เจ้า” นามสมมติ ถูกสามีทำร้ายร่างกายเธอเป็นประจำ เค้าติดการพนัน ไม่เคยเหลียวแลภาระในครอบครัว ลูกชายวัย 7 ขวบ ซึมซับพฤติกรรมรุนแรงจากพ่อไปเรื่อยๆ จันทร์เจ้าเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จึงตัดสินใจแยกทางได้ปีกว่าแล้ว

ในวันหนึ่ง..สามีก็กลับมาหาเธอในวันที่เลิกกินยาคุมกำเนิดไปแล้ว แล้วจากไปโดยทิ้งปัญหาไว้ หลังจากพบว่าตั้งครรภ์ ก็ส่งผลให้โรคซึมเศร้าของเธอรุนแรงขึ้น จันทร์เจ้าคิดสั้น ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ยารักษาโรคซึมเศร้าก็หมด หลายเดือนก่อนเธอตกงาน ไม่ได้ไปรับยาเพราะคิดว่าต้องจ่ายค่ารักษาเองเพราะสิทธิประกันสังคมขาด…   

จันทร์เจ้ามาปรึกษาเราด้วยปัญหาท้องไม่พร้อม ที่ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลตรัง นักสังคมสงเคราะห์พูดคุยสภาพปัญหา ประเมินและวางแผนให้การช่วยเหลือ หลังส่งสูตินรีแพทย์ตรวจพบว่า จันทร์เจ้าตั้งครรภ์ได้ 21 สัปดาห์ ในกรณีนี้ เครือข่าย RSA จึงมีเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้ อีกทั้งในสถานการณ์โควิดระบาด หลายจังหวัดก็ต่างล็อคดาวน์ ปิดการสัญจรจึงต้องพึ่งพาเครือข่ายอาสา RSA ในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด

จันทร์เจ้ามีอาการโรคทางจิตเวช เข้าหลักเกณฑ์การยุติการตั้งครรภ์ด้วยปัญหาสุขภาพของมารดา เราได้ประสานส่งต่อจิตแพทย์ เพื่อให้จันทร์เจ้าได้รับการรักษาต่อเนื่อง พร้อมตรวจยืนยันโรคทางจิตเวช จากนั้นนักสังคมสงเคราะห์ได้ประสานส่งต่อเครือข่ายอาสา RSA ที่ รพ.หาดใหญ่ เพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยแพทย์ แต่จันทร์เจ้าไม่มีกระทั่งค่าเดินทางไปรับการรักษา จึงได้ประสาน 1663 ขอความช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางจากกองทุนเครือข่ายท้องไม่พร้อม 

ในที่สุดจันทร์เจ้าก็ได้เดินทางโดยรถประจำทางกับแม่ที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถทำงานและต้องกินยาต้านเศร้าอยู่เช่นกัน คำพูดที่แม่ของจันทร์เจ้ามักจะพูดกับลูกเสมอคือ “อย่าทิ้งแม่นะลูก” ด้วยโรคจิตเวชและทักษะทางสังคมที่ค่อนข้างน้อย ทำให้แม่ลูกกลัวการเผชิญหน้ากับปัญหา แต่หลังจากที่ได้บริการปรึกษาเสริมพลังอำนาจภายในและได้ทางออกร่วมกัน แม่ของจันทร์เจ้าก็พร้อมสู้ไปกับลูก…

เรื่องราวน่าจะจบแล้ว แต่ …… 

ในวันที่จันทร์เจ้ารับการรักษาเสร็จสิ้นพร้อมกลับบ้าน จังหวัดสงขลาปิดเส้นทางการเข้าออก นั่นหมายความว่า ไม่มีรถประจำทางสัญจร นักสังคมสงเคราะห์ของสองโรงพยาบาลจึงได้ประสานกันได้ข้อสรุปว่าหากเดินทางกลับบ้านได้ ก็ต้องไปอยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวก่อน จนกว่าเส้นทางจะเปิดและมีรถประจำทางให้บริการ อีกทางหนึ่งคือให้สองคนรอกลับพร้อมกับรถส่งต่อคนไข้ฉุกเฉินของ รพ.ตรัง ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ และช่วงนี้ไม่มีวี่แววการส่งต่อคนไข้ไป รพ.หาดใหญ่เลย แต่จันทร์เจ้าและแม่ต้องการกลับบ้าน ลูกชายวัย 7 ขวบก็รอคอยแม่ หากติดอยู่หาดใหญ่นานก็จะขาดรายได้จากการทำงาน ทั้งสองไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีเงินมากพอที่จะจ้างรถกลับบ้าน นักสังคมสงเคราะห์ จึงได้ประสานไปยัง 1663 อีกครั้ง เพื่อปรึกษาปัญหาและขอทุนฯ เพื่อเดินทางกลับ พร้อมทั้งประสานมูลนิธิกู้ชีพสว่างภักดีในจังหวัดตรังเพื่อขอให้เดินทางไปรับคนไข้ที่ยากลำบากด้วยราคาถูก..

เรื่องราวจบลงตรงที่จันทร์เจ้าได้รับการรักษาและได้กลับบ้านไปหาครอบครัวอย่างปลอดภัย ด้วยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย จะเห็นว่ากว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะเดินทางไปรับบริการและเดินทางกลับ หนทางมีอุปสรรคมากมาย และต้องใช้ความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน  

แต่หากผู้หญิงสามารถที่จะป้องกันตัวเองด้วยการคุมกำเนิดไม่ให้ท้องไม่พร้อม ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง-ไม่ประมาท จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงสถานการณ์โควิด

ขอขอบคุณ 

  1. เครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่เอ่ยนามมาแล้วในความร่วมมือช่วยเหลือครั้งนี้
  2. อาจารย์ นพ. ชัชวาล ก่อสกุล ทีมแพทย์ และพยาบาล รพ. หาดใหญ่ทุกท่าน ที่ดูแลคนไข้และญาติอย่างดีและเข้าใจในปัญหาของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
  3. คุณปาริษา ด้วงทอง นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ โรงพยาบาลตรัง ผู้แบ่งปันเรื่องราว

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 21

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้