ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เก่ียวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์
โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา – กรรมการแพทยสภา

โครงการเครือข่ายบริการทางเลือกสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จัดการเสวนาเชิงนโนบาย ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย “ทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !! ” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวช้องกับการยุติการตั้งครรภ์ วิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นต่างๆ จากกรณีศึกษา และแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องกฎหมายและการยุติการตั้งครรภ์ ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าอุปสรรคด้านหนึ่งของการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย คือ ข้อกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้แพทย์ผู้ให้บริการในเครือข่ายอาสา RSA ได้รับผลกระทบทั้งๆ ที่ได้ให้บริการภายไต้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ เป็นปัญหาที่สำคัญและทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของผู้ประสบปัญหา

ทางเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และเครือข่ายอาสา RSA จึงได้ร่วมกันยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2561 ร้องเรียนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง โดยให้เหตุผลว่า บทบัญญัติมาตรา 301และ 305 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยชี้ขาดว่าประมวลอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้การที่หญิงทำแท้งลูกเป็นความผิดอาญา ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เหตุเป็นสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและความเท่าเทียม โดยให้เวลาไปแก้ไขภายใน 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หลังจากนั้นจะถือว่ามาตรา 301 สิ้นผลไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนการทำแท้งด้วยเหตุจำเป็นโดยแพทย์ และหญิงที่เป็นมารดายินยอมให้ทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 นั้น แม้ศาลเห็นว่าสามารถทำได้และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลโดยมติเสียงข้างมากเห็นว่า ทั้งมาตรา 301 และ 305 สมควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้ง : ข้อบังคับแพทยสภาและการบังคับใช้
.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา : กรรมการแพทยสภา 

  • ประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบริบทการทำแท้งเมื่อ 63 ปีที่ผ่านมายังเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยมาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ตัวอย่างความก้าวหน้าของการให้บริการและเทคโนโลยีทางการแพทย์คือ การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่มีความปลอดภัยสูง ประเทศเวียดนามมีการให้บริการยาทำแท้งได้ที่รพ.สต.โดยผู้หญิงเข้าไปขอรับยาและไปใช้เองที่บ้านได้ ประเทศอังกฤษ แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ผู้หญิงนำยาไปใช้เองที่บ้านได้เช่นกัน ภายในช่วงอายุครรภ์ที่กำหนด  
  • ในพ.ศ. 2548 ได้เกิดข้อบังคับแพทยสภาขึ้น โดยมี นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นนายกแพทยสภา ข้อบังคับต้องการให้เป็นการขยายคำอธิบายและเงื่อนไขการให้บริการยุติการทำแท้ง และในมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเงื่อนไขการให้บริการได้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม แม้การให้บริการจะทำได้ดังกล่าว แต่แพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าให้บริการทำแท้งเพราะยังกลัวจะเป็นการผิดกฎหมายอยู่ดี เนื่องจากข้อบังคับแพทยสภานั้นมีอำนาจทางกฎหมายต่ำกว่าประมวลกฎหมายอาญา สิ่งที่สะท้อนชัดคือ มีการทำรายงานการให้บริการทำแท้งหรือมีน้อยมาก แม้มีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องส่งรายงานก็ตาม 
  • ปัญหาสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือทัศนคติต่อการทำแท้ง คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ถ้ามีบริการทำแท้งจะทำให้วัยรุ่นใจแตก แต่จริงๆ แล้วคนที่ต้องการทำแท้งส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่มีลูกพอแล้ว มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ  มีปัญหาด้านสุขภาพหรือต้องรักษาสุขภาพจิต ถูกละเมิดทางเพศ จึงเห็นควรต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมและความก้าวหน้าด้านการแพทย์  

ที่มา :
1) การเสวนาเชิงนโนบาย ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย “ทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !! ” หัวข้อ ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เก่ียวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ โดย ศ.เกียรติคณุนพ.สมศักดิ์โล่ห์เลขา- กรรมการแพทยสภา 
2) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้ง : ข้อบังคับแพทยสภาและการบังคับใช้ สรุปความโดย คุณสุมาลี โตกทอง โครงการเครือข่ายบริการทางเลือกสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 8

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้