แม้จะเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ผ่านกฎหมายให้อนุญาตทำแท้ง (ด้วยเหตุผลเพื่อสืบทอดเชื้อสายเลือดของเผ่าพันธุ์ ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นเหตุผลปกป้องสุขภาพผู้หญิงในภายหลัง) แต่ญี่ปุ่นกลับเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ออกกฎหมายว่า ผู้หญิงที่จะทำแท้งได้ ต้องมีลายเซ็นต์ยินยอมจากสามี/คู่เท่านั้น

กฎหมายนี้ไม่เพียงสวนทางกับกระแสสิทธิการตัดสินใจในการทำแท้งเป็นสิทธิของผู้ที่ตั้งครรภ์ตามการรับรองขององค์การอนามัยโลก และกติการะหว่างประเทศอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงอิทธิพลของระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังเตรียมจะอนุมัติรับรองยาทำแท้งเป็นครั้งแรก แต่การจะเข้าถึงยาได้ ก็มีปัญหาไม่ต่างจากการไปรับบริการทำแท้งโดยใช้เครื่องมือที่คลินิกเหมือนเดิม คือ ต้องให้คู่ผู้ชายเซ็นต์ยินยอมก่อน

มินามิ โอตะ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ เธอบอกว่า เธอท้องเพราะแฟนปฏิเสธที่จะใช้ถุงยาง และเมื่อไปขอให้เขาเซ็นต์ยินยอม เพื่อที่เธอจะได้ทำแท้งได้ เขาก็ยังปฏิเสธอีก

“มันแปลกนะ ที่ฉันต้องขอให้เขาป้องกัน แล้วพอเขาไม่ใช้ถุงยาง ฉันก็ต้องไปขอให้เขาอนุญาตให้ทำแท้งอีก”

“คนที่ท้องก็คือฉัน ร่างกายของฉัน แต่ฉันกลับต้องไปขออนุญาตคนอื่น มันทำให้ฉันรู้สึกไม่มีอำนาจเลย ฉันไม่สามารถตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกาย และอนาคตของตัวฉันเอง”

ใครที่คิดว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาไปไกลมากแล้ว แต่กับเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์นี้ไม่ใช่เลย ตัวอย่างที่ถูกยกมาพูดถึงเสมอคือเรื่อง ในขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดกิน ใช้เวลาถึงเกือบ 40 ปีกว่าจะได้รับอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นในปี 1999 แต่พอเป็นไวอะกร้าได้รับอนุมัติภายใน 6 เดือนเท่านั้น

และสำหรับยาทำแท้งที่กำลังจะอนุมัติ ก็มีราคาแพงมากถึง 700 ดอลลาร์ หรือ ราว ๆ 25,000 บาท เพราะหมอที่ญี่ปุ่นบอกว่า การใช้ยาต้องใช้ในสถานบริการสุขภาพ เพื่อติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งๆ ที่หลายประเทศตอนนี้อนุมัติให้ใช้ยาเองที่บ้าน และส่งยาไปทางไปรษณีย์ให้ใช้ได้สะดวกแล้วด้วยซ้ำ

แบบนี้ซื้อตั๋วเครื่องบินมารับบริการเมืองไทย อาจจะยังถูกกว่าเลยนะ


ที่มา :Facebook Fanpage – Rsathai

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 0 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 0

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้