“ท้องไม่พร้อม” เป็นภาวะวิกฤตในชีวิตของผู้หญิง และเมื่อต้องท้องต่อ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดๆ ล้วนแต่เป็นความยากลำบากที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ทัศนคติทางสังคมที่มองว่า ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเป็นผู้ละเมิดกรอบกติกา ค่านิยมในเรื่องเพศ ทำให้การประณาม ตัดสินลงโทษยังคงส่งผ่านสถาบันครอบครัว การศึกษา ที่ทำงาน และสถานบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โอกาสในชีวิตผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงหายไป เช่น ไม่สามารถอยู่ในครอบครัวได้ ขาดโอกาสทางการศึกษา ทางเลือกในการประกอบอาชีพและรายได้ เผชิญกับความรู้สึกไร้คุณค่า ตีตราตนเองและตั้งท้องซ้ำ

การจัดบริการและระบบสวัสดิการ สำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมกรณีท้องต่อ ควรเป็นการจัดระบบบริการ สวัสดิการแบบเสริมพลัง (Empowerment) เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแม่และเด็กให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดี ได้รับการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แนวทางในการจัดบริการและสวัสดิการของรัฐควรมีอย่างรอบด้าน และเชื่อมร้อยบริการจากหลายภาคส่วนเพื่อให้ครอบคลุมการช่วยเหลือตามความต้องการของแต่ละคนตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนและหน่วยงานหรือสถาบันหลักในสังคม

  • บริการปรึกษาทางเลือก (Option Counseling) ถือเป็นบริการสำคัญในการนำพาผู้ประสบปัญหาเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ทั้งด้านบริการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและบริการช่วยเหลือสวัสดิการกรณีที่ต้องท้องต่อ
  • กระทรวงสาธารณสุข จัดบริการปรึกษาในศูนย์พึ่งได้ และบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นกระจายอยู่ในโรงพยาบาลทุกระดับ จังหวัด อำเภอ และตำบล ตลอดจนบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรของวัยรุ่น ให้อยู่ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพ
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดบริการบ้านพักเด็กและครอบครัว ให้การช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่สามารถอยู่ในครอบครัวและชุมชนได้ มีบริการด้านปัจจัยสี่ บริการปรึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตและเตรียมความพร้อมในการดูแลเด็ก ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนการเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานช่วยเหลือภายในกระทรวงฯ ประกอบด้วย สถานสงเคราะห์เด็ก ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น
  • โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อการเลี้ยงดูเด็กสำหรับครอบครัวและแม่ที่มีภาวะยากลำบากและประสบปัญหาทางสังคม เดือนละ 600 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ก่อนเด็กจะเข้าสู่ระบบดูแลของศูนย์เด็กเล็ก
  • พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เกิดขึ้นโดยต้องการลดอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น มีมาตรา 5 กล่าวถึงสิทธิของวัยรุ่นในการเข้าถึงข้อมูล การช่วยเหลือ การจัดบริการและสวัสดิการของรัฐและภาคเอกชน สนับสนุนให้เกิดกลไกขับเคลื่อนงานในทุกจังหวัด โดยมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการอย่างน้อยภายใน 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน มียุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบช่วยเหลือ คุ้มครองและสวัสดิการทางสังคมเพื่อรองรับปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
  • การดำเนินงานเพื่อจัดสวัสดิการสังคมสำหรับแม่วัยรุ่นและครอบครัว โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยออกแบบการจัดสวัสดิการแม่วัยรุ่นใน 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพกายและจิต มิติทางสังคม มิติด้านเศรษฐกิจและมิติด้านการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แม่วัยรุ่น มุ่งหวังให้แม่วัยรุ่นอยู่ในครอบครัวที่มั่นคง สามารถดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ ดำเนินการโดยมีศูนย์รักเด็ก บ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบูรณาการ ประสานงาน สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานระดับตำบล ผ่านกลไกศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก เพื่อจัดสวัสดิการสังคมสำหรับแม่วัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการจัดทำทะเบียนประวัติและแผนพัฒนารายบุคคล และกระบวนการเพื่อพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนแม่วัยรุ่นอย่างรอบด้านเพื่อการเข้าถึงบริการและสวัสดิการสังคม

การจัดบริการและสวัสดิการสังคมยังเป็นข้อท้าทาย เนื่องจากเป็นการทำงานที่ต้องสานพลังร่วมกันเป็นเครือข่าย ตลอดจนการมีทัศนคติที่เปิดกว้างเพื่อให้เกิดการเชื่อมร้อยการจัดบริการได้ครอบคลุมทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดบริการและสวัสดิการสังคมเกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ รอบด้านและครบวงจร

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 1

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้