สวัสดิการสังคมของแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศญี่ปุ่น มีความสำคัญมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากมีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากที่สามีตายจากสงคราม ประกอบกับวิถีและวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่นที่ให้บทบาทหลักกับผู้หญิงในการเลี้ยงดูสมาชิกใหม่ในครอบครัว จะเห็นได้จากการที่ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่หลังจากที่แต่งงานมีบุตรแล้ว มักออกจากงานประจำมาทำหน้าที่แม่บ้านเต็มเวลา

ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมของประเทศ ทำให้จำนวนแม่เลี้ยงเดี่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือ การกำหนดหน้าที่การดูแลลูกยังเป็นของผู้หญิงเป็นหลัก ทั้งนี้พบว่า สัดส่วนของแม่เลี้ยงเดี่ยวในญี่ปุ่น ประมาณร้อยละ 80 มาจากการหย่าร้าง ร้อยละ 12 เป็นหม้าย และ ร้อยละ 6 มีลูกจากการตั้งครรภ์นอกสมรส

นโยบายสวัสดิการสังคมสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นส่วนที่ปรับใหม่ในปี 2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแม่และลูก เอื้ออำนวยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวและบุตรได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีสวัสดิการที่รัฐจัดให้ 4 ด้านหลัก

  • ค่ายังชีพของลูก (Dependent children’s allowance) โดยได้รับ 41,880 เยนต่อเดือน เพื่อการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มเติมจากรายได้จากการทำงานของแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยคิดเป็นราวร้อยละ 11.4 % ของรายได้เฉลี่ยของแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับคือ 1) ไม่มีรายได้ หรือ 2) มีรายได้น้อยกว่า 3.65 ล้านเยนต่อปีและไม่เข้าข่ายได้รับบำนาญครอบครัว พบว่าร้อยละ 80 ของแม่เลี้ยงเดี่ยวได้รับค่ายังชีพลูก และในจำนวนนี้ ร้อยละ 83 ทำงานไปด้วย มีเพียงร้อยละ 17 ที่ยังไม่มีงานทำ
  • เงินสนับสนุนการอยู่อาศัย (Housing service) โดยมีบริการสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวในรูปแบบต่างๆ ที่เลือกได้ตามความเหมาะสมกับสภาพชีวิต เช่น บ้านเช่าอยู่อาศัยระยะยาวในราคาค่าเช่าที่ต่ำ เงินช่วยเหลือค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ บ้านพักแม่และลูกในราคาถูกที่มีบริการปรึกษาและความช่วยเหลือตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังมีส่วนลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า รวมทั้งค่าเดินทางด้วยรถสาธารณะ และค่ารักษาพยาบาลทั้งแม่และลูก
  • การสนับสนุนเพื่อให้แม่เลี้ยงเดี่ยวทำงานเลี้ยงชีพ (Employment service) รัฐจัดให้มีบริการศูนย์ข้อมูลงานและศูนย์จัดหางานทำ ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับแม่เลี้ยงเดี่ยวเข้าทำงานประจำ รัฐจะสนับสนุนเงินเดือน 6 เดือนแรกให้กับนายจ้าง นอกจากนี้ รัฐยังสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยวในการหาความรู้หรือเพิ่มวุฒิการศึกษา โดยมีทุนค่าฝึกอบรม หรือส่วนลดในการเรียนต่อในโรงเรียนอาชีวะ ในกรณีที่แม่เลี้ยงเดี่ยวตกงาน หย่าหรือเป็นหม้ายใน 3 ปีแรก จะเข้าอบรมหรือเรียนฟรี
  • การสนับสนุนการดูแลเด็กเล็ก (Day care service) บริการสนับสนุนการดูแลเด็กเล็กในประเทศญี่ปุ่น มีเครือข่ายทั่วประเทศ ให้บริการทั้งครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวทั่วไปด้วย โดยมีสวัสดิการพิเศษให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่จะได้ได้รับส่วนลดค่าบริการ หรือใช้บริการโดยไม่เสียเงิน บริการนี้เป็นที่นิยมมาก พบว่ามีถึงร้อยละ 63 ของแม่เลี้ยงเดี่ยวใช้บริการนี้ ทั้งนี้ ถ้าสถานรับเลี้ยงเด็กนั้นๆ มีไม่เพียงพอในพื้นที่ แม่เลี้ยงเดี่ยวจะได้รับสิทธิก่อนครอบครัวทั่วไป ในบางพื้นที่ที่มีบริการดูแลบุตรในตอนกลางคืนด้วย (Night care service) สำหรับกรณีที่แม่เลี้ยงเดี่ยวป่วย ไปงานศพ หรือ กรณีฉุกเฉินต่างๆ

ที่มา : หนังสือเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
คู่มือคนทำงาน: ร่วมด้วยช่วยกันดูแล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2561

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 3 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 2

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้