เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 20 ล้านคน เป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และมีสตรีเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปีละประมาณ 70,000 คน โดยร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย แต่ยังไม่มีข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์ที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายจึงหันไปใช้บริการทำแท้งเถื่อน หรือซื้อยายุติการตั้งครรภ์จากอินเทอร์เน็ต
นพ.วชิระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเพื่อลดอันตรายจากการเจ็บป่วยและตายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย กรมอนามัย จึงร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราช รามาธิบดี ขอนแก่น และสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนจากConcept Foundationและ องค์การอนามัยโลก ศึกษาวิจัยระบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา หลังจากนั้นได้ผลักดันยาให้ขึ้นทะเบียนในปี2557และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติในปี 2558 เพื่อใช้ในบริการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา
ยายุติการตั้งครรภ์ มีชื่อว่า ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) และไมโซพรอสทอล (misoprostol) ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล ซึ่งสูตรของยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาหลักขององค์การอนามัย (World Health Organization – WHO) สามารถใช้ในอายุครรภ์ น้อยกว่า 9 สัปดาห์ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับประเทศไทย สูตรยาดังกล่าวก็ได้ขึ้นทะเบียนยาสูตร MeFi-Miso เมื่อเดือนธันวาคม 2557 และล่าสุดเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา MeFi-Miso ได้ขึ้นบัญชียาหลัก จ (1 ) ซึ่งหมายความว่า คนทั่วไปสามารถเข้าถึงยา ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) ไมโซพรอสทอล (misoprostol) และเมทตาบอลได้ แต่ต้องอยู่ในโครงการพิเศษของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วย งานรัฐ ที่มีการติดตามประเมินการใช้ยาตามโครงการปัจจุบันมีเครือข่าย โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิก จำนวน 85 แห่งทั่วประเทศไทย ที่หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ยาดังกล่าว ไม่มีการจำหน่ายตามร้านขายยา หรือโรงพยาบาลและคลินิกที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
“กว่า 60 ปีมาแล้วที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 โดยผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นแพทย์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพกาย หรือปัญหาสุขภาพจิต หรือตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติคือ ถูกข่มขืน เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี การค้าบริการทางเพศทั้งที่ยินยอมและไม่ยินยอม หรือการล่อลวงอนาจาร แต่เนื่องจากที่ผ่านมาสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยยังมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากทัศนคติของสังคมและผู้ให้บริการสาธารณสุขจำนวนมาก ยังมองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในทางลบ และต่อต้านการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานบริการของตน กรมอนามัยจึงได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ (RSA: Referral System for Safe Abortion)เพื่อการเข้าถึงบริการของวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม” นพ.วชิระ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า ผู้มีปัญหาสามารถโทรไปที่สายปรึกษาท้องไม่พร้อม1663 เพื่อรับบริการปรึกษาทางเลือก และส่งต่อดูแลไม่ว่าทางเลือกจะเป็นการตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้บริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเครือข่ายRSAมีแพทย์อาสาที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากกรมอนามัยรวม 110 คน และยังมีสหวิชาชีพอาสาจำนวน 262 คน เพื่อให้สตรีไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีรับวันสตรีสากล
ทั้งนี้ จากสถิติการสำรวจสถานการณ์การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พ.ศ. 2555 มีอัตราการเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยของผู้หญิงไทยปีละ25-30 คน และบาดเจ็บเพราะภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยประมาน 30,000 คน
การยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) สามารถทำได้ถูกกฎหมายด้วยเหตุผล 2 ประการ
ประการแรก : เหตุผลทางกฎหมาย เมื่อการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดทางอาญาในกรณีข่มขืนและกรณี เกี่ยวเนื่องกับการจัดหาบริการทางเพศที่มีการข่มขู่เพื่อซื้อขายบริการทางเพศ แพทย์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์อายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์
ประการที่สอง : เหตุผลทางการแพทย์ หากการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพของมารดา ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้