เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
(The Choices Network, Thailand)

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม หรือ Choices Group ก่อกำเนิดมาจากข้อเสนอให้ “สร้างกรอบใหม่การขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้หญิงท้องที่ประสบปัญหาและต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมาย โดยต้องเป็นเรื่องของผู้หญิงต่อ “ทางเลือกเมื่อไม่พร้อม” โดยรวมเอาทุกภาคส่วนของคนทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกทางเลือกเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนในรูปของเครือข่าย”[1]

ข้อเสนอนี้ได้รับการแปรเป็นภาคปฏิบัติการ ด้วยการผลักดันของมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (องค์การแพธ ประเทศไทยในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ในการจัดประชุมเรื่อง “การขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องเมื่อไม่พร้อม” มีผู้เข้าร่วมประชุม 24 คนจาก 14 หน่วยงาน ซึ่งมีมติให้จัดตั้งเครือข่ายอย่างหลวมๆ โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือ การสร้างทางเลือกให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อม ไม่ว่าจะต้องการยุติการตั้งครรภ์หรือท้องต่อไป และจัดประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ โดยในแต่ละครั้งจะกำหนดประเด็นปรึกษาหารือ ให้ข้อมูล/สถานการณ์ใหม่ ๆ ต่อสมาชิกเครือข่าย และคาดหวังว่าจะค่อยๆ ขยายเครือข่ายออกไป

จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) เครือข่าย Choices มีอายุย่างเข้าปีที่ 11 และได้จัดประชุมอย่างสม่ำเสมอรวมแล้ว 44 ครั้ง ขณะนี้มีองค์กรสมาชิกรวม 80 องค์กร ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรสาธารณกุศล และนักวิชาการ ที่ทำงานหรือให้บริการในด้านความรู้ ปรึกษา ป้องกัน ดูแลรักษา ช่วยเหลือ สวัสดิการสังคม และบ้านพัก รวมทั้งการศึกษาวิจัยต่างๆ

แนวทางการขับเคลื่อนแบบ Pro-Voice
ในท่ามกลางสถานการณ์และการถกเถียงเรื่องยุติการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในบริบทของการเมืองเรื่องศีลธรรมนั้น แนวคิดที่เป็นคู่โต้แย้งหลักของเรื่องผู้หญิงท้องไม่พร้อม คือ แนวทางสนับสนุนการเกิด (Pro-Life) และแนวทางสนับสนุนทางเลือก (Pro-Choice) ที่ต่างก็อธิบายเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงท้องไม่พร้อม จึงควรเลือกตั้งครรภ์และจนครบกำหนดคลอด หรือควรยุติการตั้งครรภ์ สิ่งที่ถูกละเลยและขาดหายไปตลอดมาก็คือ เสียงของผู้หญิงท้องไม่พร้อมเหล่านั้นเอง (Pro-Voice) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สนับสนุนและเคารพประสบการณ์ของผู้หญิงที่จะเลือกชีวิตการเจริญพันธุ์ของตัวเอง โดยปราศจากอคติและการตีตรา

เป้าหมายของเครือข่ายท้องไม่พร้อมจึงเน้นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสะพานข้ามข้อจำกัด เปิดทุกทางเลือกที่เป็นจริงให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อม และรับฟังเสียงของเธอเหล่านั้นอย่างตั้งใจ ปราศจากอคติ และการตีตรา

วัตถุประสงค์

(1) รณรงค์ป้องกันท้องไม่พร้อม ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการสอนเพศศึกษาแบบรอบด้าน เสริมทักษะชีวิต และการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดที่มีคุณภาพและเพียงพอ

(2) เสริมพลังให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ผ่านการพัฒนาบริการปรึกษาทางเลือกที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงได้

(3) สนองตอบต่อทุกความต้องการของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมอย่างครบวงจร ไม่ว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์หรือท้องต่อ ด้วยการพัฒนาเครือข่ายส่งต่อให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพและทางสังคม

(4) สร้างความเข้าใจต่อสังคมในประเด็นท้องไม่พร้อม และขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา

4 ลักษณะงานที่ขับเคลื่อน

(1) การสนับสนุนและอบรมการปรึกษาทางเลือกและเสริมพลัง
องค์กรแกนนำ : มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง

(2) การสร้างเครือข่ายการส่งต่อยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย
องค์กรแกนนำ : มูลนิธิแพธทูเฮลท์

(3) การช่วยเหลือและตั้งครรภ์ต่ออย่างมีคุณภาพ
องค์กรแกนนำ : สหทัยมูลนิธิ

(4) การรณรงค์เพื่อขยายบริการคุมกำเนิดให้ประชากรทุกกลุ่ม
องค์กรแกนนำ : สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

[1] กฤตยา อาชวนิจกุล และกนกวรรณ ธราวรรณ. (2545). ขบวนการทางสังคมบนมิติการเมืองเรื่องเพศและร่างกายผู้หญิง. ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ (บรรณาธิการ). วิถีชีวิต วิธีสู้: ขบวนการประชาชนร่วมสมัย (34-129). เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊ค.

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 2

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้