เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงท้องไม่พร้อม-ภาคี พบว่าข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดในการยุติการตั้งครรภ์ในไทย คือสถานบริการของรัฐปฏิเสธการให้บริการ เพราะความกลัวบาปจากทัศนคติส่วนตัว ส่งผลให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเสี่ยงชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
วันนี้ (23 ก.ย.2559) เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (เครือข่ายช้อยส์) และองค์กรภาคี ร่วมกันรณรงค์เพื่อสิทธิการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ด้วยการจัดการเสวนา “คุยเรื่องแท้ง : คิดใหม่ มุมมองใหม่” เพื่อเรียกร้องบริการสุขภาพและความเข้าใจของสังคม ถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งสถานการณ์ยุติการตั้งครรภ์ในประเทศยังเป็นเรื่องยาก เพราะยังติดอยู่ที่ทัศนคติความเชื่อ ที่กลัวเรื่องบาปถ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ ขณะที่คนทำงานก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนร่วมงาน ทั้งๆที่กฎหมายอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่เป็นปัญหาสุขภาพทางกายและทางจิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือกรณีจากการกระทำความผิดอาญา
นพ.สัญญา ภัทราชัย สูตินารีแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ เพราะเรื่องนี้ทางการแพทย์ไม่มีปัญหาทางเทคนิค สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ที่ในต่างประเทศผู้หญิงสามารถเข้าถึงได้ แต่สำหรับผู้หญิงไทยไม่สามารถเข้าถึง เพราะยาดังกล่าวถูกควบคุมการใช้โดยกรมอนามัย ห้ามจำหน่ายในร้านขายยา และคุมเข้มเฉกเช่นยาเสพติด
“ยายุติการตั้งครรภ์เป็นยาที่ปลอดภัย แต่การนำมาใช้ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะทุกครั้งที่แพทย์ใช้จะต้องเขียนรายงานส่งกรมอนามัย ว่านำยาไปใช้อย่างไร เพราะเป็นยาควบคุมพิเศษ “นพ.สัญญากล่าว
ด้านนางกุลกานต์ จินตกานนท์ ผู้หญิงที่มีประสบการณ์การยุติการตั้งครรภ์ เปิดเผยว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว เพราะเธอไม่สามารถเลี้ยงลูก 2 คนพร้อมกันได้ เพราะมีปัญหาทางการเงินและไม่มีคนช่วยเลี้ยงดู แต่วิธีการดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากและน่ากลัว และการตัดสินใจครั้งนั้น ก็ถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนบาปและไม่มีความรับผิดชอบ
“หลายคนต่อว่า ว่าลูกคนเดียวทำไมเลี้ยงไม่ได้ ทำไมจิตใจอำมหิต สังคมตัดสินเราว่าเราเป็นคนไม่ดี ส่วนตัวรู้สึกแย่กับการตีคุณค่าของสังคม เพราะถ้าเรายอมท้องต่อ ปัญหาที่ตามมาคือลูกอาจจะกลายเป็นภาระของสังคม “นางกุลกานต์กล่าว
ปัญหาท้องไม่พร้อมยังเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในระดับมัธยมศึกษา นายนรากร ไหลหรั่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ นนทบุรี ยอมรับว่า เป็นปัญหาที่พบทุกปี และการยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นทางออกที่โรงเรียนเลือก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่ยุติการตั้งครรภ์จะสามารถกลับมาเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน แตกต่างจากเด็กที่ท้องต่อ เมื่อคลอดแล้วพบว่า ร้อยละ 90 ไม่สามารถกลับมาเรียนได้ และกลายเป็นภาระของครอบครัว
เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ย้ำว่า การรณรงค์เพื่อสิทธิการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ไม่ใช่การสนับสนุนให้ผู้หญิงทำแท้ง แต่เป็นเพียงทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และเพื่อคุ้มครองชีวิตผู้หญิงที่ต้องเสี่ยงอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยในแต่ละปี การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงตั้งครรภ์ทั่วโลก ปีละ 47,000 คน
ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/256045