ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ มีเทคโนโลยีเพื่อยุติการตั้งครรภ์พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น มีเครื่องมือ ตัวยาใหม่ๆ ที่ใช้ง่าย ปลอดภัย ราคาถูก และมีประสิทธิภาพสูง แต่ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงท้องไม่พร้อมยังคงเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย และอันตรายจากการทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐานนับเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ มีผู้หญิงที่ป่วยด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งผิดกฎหมายเข้ารักษาตัวตามสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศหลายหมื่นคนต่อปี

สังคมไทยควรมีมุมมองต่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในเชิงเข้าใจมากกว่าการประณาม เพราะทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญปัญหาอย่างหลบซ่อน ขาดข้อมูลและเข้าไม่ถึงบริการ จึงนำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ทำแท้งสูง

ร่างกายผู้หญิงเป็นพื้นที่ต่อสู้รองรับอุดมการณ์หลายอย่าง ทั้งอุดมการณ์เรื่องเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยอันควร ในการแต่งงาน ชาย-หญิง อุดมการณ์นิยมให้ชายเป็นใหญ่ ยอมรับอิทธิพลผู้ชายในการกำหนดชีวิตทางสังคม อุดมการณ์ครอบครัวสมบูรณ์ เน้นการเกิด/มีลูก ครบทั้งพ่อ-แม่-ลูก โดยไม่เห็นว่าความตั้งใจหรือความพร้อมที่จะท้องหรือไม่ของผู้หญิงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการตัดสินใจ อุดมการณ์เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นโอกาสและความหวังที่จะให้ผู้หญิงมีสิทธิตัดสินใจเลือกชีวิตทางเพศ และกำหนดอนามัยเจริญพันธุ์ตัวเอง การเกิดจากการท้องที่ตั้งใจต้องให้ผู้หญิงมีส่วนตัดสินใจเลือกเอง

ปัญหาการทำแท้งเถื่อนและชี้ว่าการท้องไม่พร้อมยังคงเป็นปัญหาของสังคมไทย ที่ยังขาดการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างเป็นระบบรอบด้านและยั่งยืน การบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจึงเป็นหัวข้อที่โต้แย้งถกประเด็นแตกต่างหลากหลายกันไม่รู้จบ

การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ : ในการประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 36 เมื่อต้นปี 2558 ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีรายงานถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกี่ยวกับทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม นโยบายและมาตรการของ สปสช. ต่อการสนับสนุนการคุมกำเนิดในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี และแนวทางการขยายบริการให้ครอบคลุมผู้หญิงอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช. ให้ข้อมูลว่าในแผนงานสนับสนุนระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช. มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคดูแลและให้ความสนใจประเด็นการตั้งครรภ์วัยรุ่นหรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่งที่บริหารระดับประเทศ โดยใช้บทบาทของ สปสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการการตั้งครรภ์วัยรุ่น โดยมีงบประมาณและได้เสนอเป็นกรอบการป้องกันและควบคุมการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มีระยะเวลา 3 ปี (2558-2560)

โดยเริ่มต้นในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีก่อน เนื่องจากเงินระดับประเทศมีอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท และทำหลายเรื่อง แต่คาดว่าเมื่อมีข้อมูลเข้ามาและประเมินสถานการณ์แล้ว กลางปี 2558 น่าจะขยายไปสู่สตรีที่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยมีกรอบการทำงาน 4 ด้านคือ

  1. สนับสนุนการจัดให้มีบริการ โดยให้หน่วยบริการให้บริการฝังยาคุมกำเนิด หรือว่าห่วงอนามัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกสิทธิที่คลอดแล้ว หรือแท้ง หรือสมัครใจ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการ/ยาและเวชภัณฑ์ในการป้องกันและควบคุมการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งกำลังผลักดันยาสำหรับทำแท้ง (Medical Abortion)เข้าสู่ระบบบัญชียาหลักแห่งชาติและสนับสนุนให้ สปสช. เขตมีเครือข่ายบริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยในระดับเขต ทั้งนี้ยังไม่ได้จ่ายให้ในส่วนของการทำแท้ง เว้นแต่เป็นกรณีทารกในครรภ์ผิดปกติ เป็นทาลัสซีเมียชนิดรุนแรง จะจ่ายพิเศษให้กับหน่วยบริการ 3,000 บาท สำหรับการยุติการตั้งครรภ์
  2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการใส่ห่วง/ฝังยาคุมกำเนิดและให้คำปรึกษา เป็นเงินพัฒนาระบบอยู่ที่ระดับประเทศประมาณ 60 ล้านบาท จ่ายให้กับกรมอนามัย
  3. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน/หน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร เป็นข้อเสนอของอนุฯ ของภาคีว่าการที่จะจัดการเรื่องการตั้งครรภ์วัยรุ่นให้หวังผลได้ ควรจะต้องสนับสนุนสถานบริการภาคเอกชนร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้สนับสนุนสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย
  4. การติดตามประเมินผล สรุปภาพรวมการทำงานตามกรอบข้างต้นในช่วง 4-5 เดือนของปีงบประมาณ 2557 ทั้งหมดทั่วประเทศ 1,973 ราย เป็นยาฝัง 1,664 กว่าราย ใส่ห่วง 309 ราย

สำหรับประเทศไทยองค์กรที่ทำงานเรื่องประเด็นผู้หญิง/สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดถึงเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติ เพื่อให้ผู้หญิงที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมได้มีโอกาสเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง หากเปิดพื้นที่ให้เสียงแห่งความทุกข์ของผู้หญิงที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมได้เปล่งเสียงออกมา ในขณะที่สังคมเองต้องไม่เอาระบบคุณค่า หรือประสบการณ์ส่วนตัวไปตัดสินชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ ว่ากันว่าเราจะสามารถช่วยชีวิตของผู้หญิงที่มีความทุกข์เหล่านี้ได้อีกมากมาย

‘ตราบาป’ ผู้หญิงท้องไม่พร้อม : ในการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เสียงผู้หญิงอยู่ตรงไหน?” กุลภา วจนสาระ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพูดในประเด็น “ทำไมผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงไร้เสียง” บอกว่า สังคมไทยมีระบบการจัดการบางอย่างที่ไม่ให้ผู้หญิงพูดถึงเรื่องการทำแท้ง

“งานวิจัยเรื่องอุปสรรคการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยที่ทำเมื่อปีสองปีที่แล้ว การที่ผู้หญิงเลือกยุติการท้องที่ไม่พร้อมของตัวเองก็จะถูกการตีตราการทำแท้งด้วยบาปและขยายไปถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งให้บริการการทำแท้งด้วย การใช้เครื่องมือการตีตรามีประสิทธิภาพมาก เพราะเป็นการหยุดเสียงของผู้หญิงแต่ละคนทั้งในระดับปัจเจกและระดับความสัมพันธ์ในสังคม”

กุลภาชี้ว่า การตีตรา (Stigma) ผู้หญิงท้องไม่พร้อมเป็นหนึ่งในสิ่งที่สังคมใช้ลงโทษผู้หญิงที่ออกนอกแบบแผนที่สังคมกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ของคน ที่อนุญาตให้มีได้ในสถาบันการแต่งงาน ในวัยอันสมควร ในความสัมพันธ์ต่างเพศ ฯลฯ หรือเรื่องบทบาทของผู้หญิงที่ให้คุณค่ากับความเป็นเมียและแม่ ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่เลือกจะทำแท้งแทบทุกรายจึงเผชิญกับทุกข์ของการตัดสินใจของตัวเองอย่างเงียบงันไปตลอดชีวิต เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางสังคมที่รุนแรงกว่า

การตีตราทางสังคมให้กับผู้หญิงท้องไม่พร้อมและทำแท้งมี 3 รูปแบบ คือ (1)การสร้างภาพเหมารวม(Stereotype) เช่นว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเป็นเด็กสาวใจแตก ไม่มีความรับผิดชอบที่จะเป็นแม่ที่ดีได้ ทำให้ครอบครัวต้องอับอายขายหน้า ฯลฯ (2) การเลือกปฏิบัติและการกีดกันผู้หญิงท้องไม่พร้อม เช่น ถือว่าผู้หญิงที่เคยทำแท้งนั้นเป็นคนบาป ทำอะไรก็ไม่เจริญ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง และ (3) การมีส่วนในการทำแท้งนำมาซึ่งผลพลอยบาป เป็นต้น

อคติเช่นนี้เองที่ทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นว่าชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้มีคุณค่าพอที่จะได้รับการดูแลรักษา และไม่คิดเลยว่าการไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัยนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง

“เสียงจากผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและเลือกที่จะทำแท้งจำนวน 35 คน เขามีประสบการณ์ก็คือการต้องเผชิญกับความรู้สึกอับอาย ซึ่งนำไปสู่เรื่องราวของการปกปิดบอกใครไม่ได้แล้วก็พยายามหาทางยุติอย่างเงียบเชียบที่สุด และรู้สึกผิดบาปในใจ ตราบาปจากการทำแท้งนั้นมีมิติที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ไม่มีใครอยากจะปรากฏตัวให้เห็นตัวเป็นๆ เพื่อจะถูกตราและทำเครื่องหมายว่ามีมลทินดังนั้นผู้หญิงท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่จึงไม่อยากแสดงตัวให้เห็นในสังคมได้แต่ยอมรับกับตัวเองอย่างเงียบๆ ว่าตัวเองไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นแล้ว แล้วไม่บอกให้ใครรู้มักจะเก็บเป็นความลับไปตลอดชีวิต”

ความเงียบจะช่วยลดความเสี่ยงของการถูกปฏิเสธ ไม่ยอมรับหรือถูกเลือกปฏิบัติ เพราะถ้าเงียบจะช่วยลดความรุนแรงจากตราบาปและลงโทษจากสังคมได้บ้าง แต่ที่สำคัญการเงียบและไร้ตัวตนของผู้หญิงเหล่านี้จะช่วยให้เขารักษาสถานะที่เคยมีไว้ได้ กุลภาบอกว่าผู้หญิงที่ปิดเงียบจะไม่ถูกโดดเดี่ยวทางสังคม ไม่ถูกแยกออกและไม่ถูกตัดขาดความสัมพันธ์จากสังคมที่เคยมีมา ไม่ว่าจากครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง

“เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงทำแท้งแทบทุกคนจึงพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะปกปิดสาเหตุกับการตัดสินใจจัดการกับร่างกายของตัวเองครั้งนั้นไว้ ผลสืบเนื่องก็คือการลงโทษตัวเองด้วยความรู้สึกผิดบาป ทนเป็นทุกข์กับตราบาปในใจที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของตัวเองยาวนานไปตลอดชีวิต นี่คือบทลงโทษของตราบาปในอุดมคติของสังคมที่กำหนดให้ว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่”

ส่วนเสียงสะท้อนของอีกฝั่งหนึ่งจากการบริการยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นภัย ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาในโรงพยาบาลของรัฐหลายระดับ มีทั้งหมอ พยาบาล อาจารย์แพทย์ นักกิจกรรมด้านจิตตปัญญา เสียงที่เราได้ยินจากฝั่งผู้ให้บริการ คนเหล่านี้ที่ช่วยผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องการทำแท้ง ก็ต้องรับผลจากตราบาปการทำแท้งเหมือนกัน โดยอยู่ในรูปที่เรียกว่า “ผลพลอยบาป” หมายถึงการติดบาปจากการทำแท้งมาด้วย และถูกมองว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด สนับสนุนแนะนำและมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้หญิงทำแท้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการให้คำปรึกษาทางเลือก หรือแค่ทำงานในคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ให้บริการ

กุลภา บอกว่า “ผลพลอยบาป” ที่ทำวิจัยนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะเห็นว่าการทำแท้งเป็นการฆ่า เป็นการทำร้ายชีวิต ถือว่ามีความผิดร้ายแรงทางศาสนา ถ้าไปเกี่ยวข้องด้วยจะถูกมองว่าเป็นคลินิกบาป เสียชื่อเสียงและจะแปดเปื้อนมลทิน จะไม่บริการทำแท้งโดยเด็ดขาด

กลุ่มที่ 2 มองว่าการทำแท้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของผู้หญิงท้องไม่พร้อม โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้ถ้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็จะรู้สึกผิดบาป ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากยุ่ง จะยอมทำแท้งให้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และผู้ให้บริการในกลุ่มนี้มักไม่ค่อยละเอียดอ่อนกับเหตุผลที่แตกต่างกันของผู้หญิงท้องไม่พร้อมแต่ละคนเท่าไหร่ บางคนจะยอมให้บริการเพราะว่าเป็นหน้าที่ แต่ก็ฝืนใจและขัดแย้งกับระบบศีลธรรมในใจตัวเอง

กลุ่มที่ 3 มองว่าเป็นการทำงานตามหน้าที่ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือของคนที่มีปัญหาเดือดร้อน ทำด้วยเจตนาดีไม่บาป มองว่าการทำแท้งเป็นการให้บริการและรักษาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมได้รับการบริการที่ปลอดภัยไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิตที่อื่น และไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรตอบแทน

“ผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะใช้คำอธิบายสองอย่างในการจัดการกับผลพลอยบาปก็คือต่อรองกับความผิดบาปในใจของตัวเองด้วยการยึดเจตนาดีเป็นสำคัญ เชื่อมั่นในบทบาทของตัวเองว่าช่วยให้ผู้หญิงพ้นทุกข์ได้รับการบริการที่ปลอดภัย กลุ่มนี้มองว่าการทำแท้งเป็นทางเลือกของผู้หญิงเป็นสิทธิของตัวผู้หญิงเอง ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองที่จะไปตัดสินเรื่องบาปไม่บาปหรือผิดถูก

การไปใช้ความรู้สึกส่วนตัวไปสร้างความเกลียดชังและไปตัดสินการกระทำของคนอื่นไม่ได้ หรือจะเอาความเชื่อส่วนตัวมาอยู่เหนือหน้าที่ก็ไม่ได้ ซึ่งจะแยกแยะชัดเจนระหว่างระบบคุณค่าที่เป็นเรื่องส่วนตัวของตัวเองกับหน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์แก่ผู้หญิง และก็ไม่เอาความเชื่อของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับบริการเมื่อเขาต้องการ” กุลภาย้ำว่า ตราบาปและผลพลอยบาปจากการทำแท้งทำให้การได้ยินเสียงและการมองเห็นตัวตนของผู้หญิงเหล่านี้เป็นเรื่องยากมาก

“การจะเงี่ยหูให้ได้ยินเสียงเหล่านี้จะต้องลดเครื่องมือสกัดกันอย่างการตีตราบาป ซึ่งจะต้องใช้หูและตาหรือแบบหนึ่ง ต้องใช้มุมมองและใจอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเสียงสุดท้ายจึงเป็นเสียงที่เราได้ยินจากการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในวงการศาสนาและจิตตปัญญาที่แนะนำว่าการจะได้ยินเสียงที่เป็นทุกข์ของผู้หญิงนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรนักเพียงแต่ว่าเราจะหยิบศีลหรือหลักธรรมบางข้อมาอยู่เหนือบางข้อ

“จากที่เราเคยชินกับข้อที่ว่าหลักปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต) เป็นหลักใหญ่ก็ต้องขยายความคิดว่า ศีลธรรมมีหลายมิติ ประนีประนอมกับหลักการต่างๆ ใช้สติปัญญาที่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และใช้หลักเมตตากรุณาเป็นพลังที่ทำให้คนทำงานเสียสละช่วยเหลือคนอื่น ขณะเดียวกันก็ควรใช้หลักอริยสัจ 4 เปลี่ยนการมองให้กว้าง มองเป็นเรื่องทุกข์ การเกิด และการดับทุกข์ มองให้เห็นทุกข์ของผู้หญิง ช่วยดับทุกข์ด้วยเจตนาดี ไม่ได้ทำด้วยความโกรธหรือเกลียดชังเขา จะช่วยลดความรู้สึกผิดบาปได้ และสุดท้ายให้ผู้หญิงเลือกมองว่าตัวเองจะจัดการกับทุกข์แบบไหน โดยให้ข้อมูลทางเลือกที่รอบด้าน ข้อดีข้อเสีย ติดอาวุธทางปัญญาให้เขา แล้วก็เน้นการอยู่ที่ปัจจุบันขณะ ไม่ใช่ชาติที่แล้วหรือชาติหน้า”

การปล่อยให้ผู้หญิงไปทำแท้งไม่ปลอดภัย ติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จนกระทั่งเสียชีวิตนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่เป็นเพราะเรารักษาภาวะท้องไม่พร้อมนั้นไม่ได้ แต่เป็นเพราะสังคมตัดสินไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าชีวิตเขามีค่าควรช่วยหรือไม่?

ภายใต้ความกังวลของการเปลี่ยนแปลงประชากรไทยไปสู่การเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเกิดที่ลดลง สวนทางกับสถิติแม่วัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ประเด็นทางประชากรที่ตั้งคำถามกับการเกิดอย่างมีคุณภาพในสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่ควรเปิดใจรับฟังในการพิจารณาทางเลือกต่างๆ ก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ท้องทุกท้องต่อไปนี้ในสังคมไทยเป็นท้องที่ไม่ผิด และการทำแท้งไม่ใช่การทำแท้งเถื่อน สามารถเข้าถึงมาตรฐานบริการที่ปลอดภัยตามสมควร เพื่อให้การมีชีวิตอยู่ในสังคมไทยเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ เพราะไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง

ที่มา : https://www.posttoday.com/life/life/396388

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 0 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 0

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้