ผู้หญิงต้องมีทางเลือกเมื่อท้องไม่พร้อม การอภิปรายเรื่อง ABORTION 4G /การทำแท้ง 4 จ.งาน PRO-VOICE 4
เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม พวกเธอควรมีทางเลือก การอภิปรายเรื่อง Abortion 4G/การทำแท้ง 4 จ. ในงาน Pro-Voice 4 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ที่ห้องอาหารเพื่อนรัก ในซอยพญานาค เขตราชเทวี กทม. โดยเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เสนอทางเลือกให้เห็นว่า นี่เราเดินทางมาสู่ยุค 4 จ. ของการทำแท้งแล้ว ทั้งเทคโนโลยีที่เจ๋งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก งานบริการก็มีความจริงใจไม่ซ้ำเติมหรือตีตรา การทำแท้งเป็นทางเลือกที่ตำรวจไม่จับแล้ว และเมื่อเราตั้งใจทำแท้ง ก็จงเดินหน้าไปสู่ชีวิตที่แจ่มใส งานนี้มี 4 วิทยากรมาให้ข้อมูลในแต่ละส่วน ดังนี้
Good Technology / เทคโนโลยีเจ๋ง โดย พญ.อรวี ฉินทกานันท์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดีเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น การทำแท้ง ก็มีเทคโนโลยีที่ดีที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มันคือการใช้ยาทำแท้งที่ปลอดภัย เรียกว่า Medical Abortion มันดีและมีความปลอดภัยกว่าวิธีเดิม 95-99% ไม่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองว่า หากอายุครรภ์ต่ำกว่า 9 สัปดาห์ ผู้หญิงสามารถใช้ยาทำได้เองที่บ้าน ซึ่งมีสถิติความปลอดภัยสูงถึง 92-99% แต่ถ้าอายุครรภ์เกิน 9 สัปดาห์ อาจจำเป็นที่ต้องมาโรงพยาบาล แต่โอกาสประสบความสำเร็จยังสูงมากกว่า 95% แต่ทั้งนี้ก็มีโรคบางอย่างที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยา เช่น ท้องนอกมดลูก แพ้ยา เป็นโรค SLE ต่อมหมวกไต โรคเลือด รวมถึง HIV ที่อาจจะต้องมีการปรับโดสที่จะให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไข้และคุณหมอต้องคุยกัน
- ข้อดีของการใช้ยาคือ ปลอดภัย สะดวก ไม่ต้องทนยาสลบ ผู้หญิงสามารถควบคุมได้
- ข้อด้อยคือ ผลที่ได้อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และอาจต้องมาโรงพยาบาลต่ออีกหลายครั้ง
Good Service / บริการจริงใจ โดย นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะที่สังคมเริ่มมีการเปลี่ยนวิธีคิดเมื่อพูดถึงเรื่องการทำแท้ง เริ่มมีเสียงที่เห็นต่างและเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ทัศนคติของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข ที่ยังติดอยู่กับเรื่องความดีความเชื่อในแบบเดิม ๆ สิ่งที่ควรเป็นของ Good service จากการรีวิวของ WHO คือการพัฒนาที่ยั่งยืน
- Person-Centered ให้บริการแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฟังด้วยใจไม่ตัดสิน ทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนๆ หนึ่ง
- Accessibility ผู้หญิงเข้าถึงการให้บริการได้ง่าย สะดวกใจ มีความปลอดภัย
- Quality การบริการที่มีคุณภาพ มีเครื่องมือที่ดี มีความปลอดภัย
- Coverage มีความครอบคลุมคนได้ทุกกลุ่ม สนับสนุนค่าใช้จ่าย และตรวจสอบว่ามีอะไรที่จำเป็นแต่ผู้รับบริการยังได้ไม่ครบ
- Comprehensiveness การดูมนุษย์แบบ 4 มิติ คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ให้กลับมาเป็นคนที่ดีทั้ง กาย ใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ
- Continuity มีความต่อเนื่องในการให้บริการ
- Coordination มีการประสานกันระหว่างเครือข่าย
- Accountability มีการตรวจสอบได้
Good Law / ตำรวจไม่จับ โดย รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พูด 2 เรื่อง ปัจจุบัน อนาคต
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำหนดความผิดฐานการทำแท้งไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ในมาตรา 301-305 ผู้ที่ออกกฎหมายเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดแบบ Conservativeเพราะเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2500 ที่มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดบาป ทำให้ห้ามทำแท้งทุกกรณี ยกเว้นสองข้อคือ แม่จะเป็นอันตราย และ เป็นผู้หญิงถูกข่มขืน กฎหมายเมื่อ 60 ปีที่แล้วเปิดช่องน้อยมาก และไม่เคยให้สิทธิผู้หญิงในการตัดสินใจเลย จนกระทั่งปี 2548 มีข้อบังคับแพทยสภา ที่ตีความกฎหมายมาตรา 305 ที่ระบุว่าทำให้ผู้หญิงที่แม่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่แค่สุขภาพกายแต่รวมสุขภาพใจด้วย จึงเกิดการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย แต่ในกรณีนี้จะต้องมีแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิตของคนไข้ที่ไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้ และอีกหนึ่งคนที่เป็นแพทย์ทำแท้ง รวมทั้งหมดมีแพทย์สามคน
แต่สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะมีข่าวดี เพราะกำลังจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 กันในเร็ววันนี้ โดยกรรมการปรับปรุงกระบวนกฎหมายอาญาของกฤษฎีกา สิ่งที่สำคัญที่อยากฝาก็เครือข่ายช่วยทำคือ เครือข่ายควรจะได้มีโอกาสไปพูดคุยกับกรรมการ เพราะกรรมการจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย แต่ส่วนใหญ่กลุ่มที่จะได้เข้าไปพูดคุยคือกลุ่มภาครัฐ คณะกรรมการจะได้ข้อมูลจากฝั่งนี้ซึ่งน่าจะรู้ว่าทิศทางของภาครัฐจะไปทางไหน ถ้าเครือข่ายเข้าไปอธิบายว่าอันตรายจากการที่คนไปลักลอบทำแท้งเองจะเป็นอย่างไร มีข้อมูลรองรับอย่างเป็นรูปธรรม กรรมการน่าจะรับฟัง และน่าจะถึงเวลาที่จะเปลี่ยนกฎหมายจากที่อึมครึมเป็นสดใส ทำให้เกิดการทำแท้งที่ปลอดภัยในทุกโรงพยาบาล และได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข
Good Life / ชีวิตแจ่มใส โดย ชนกนันทร์ รวมทรัพย์ กลุ่มทำทาง
ถ้าเราทำทั้ง 3 Good ก่อนหน้านี้ได้ ก็จะทำให้ผู้หญิงมี Good Life แต่นอกจากทั้ง 3 Good นี้ อีกอย่างที่สำคัญมากคือการตีตรา กลุ่มทำทางของเราพยายามช่วยลดการตีตราและช่วย Empower ผู้หญิงที่เจอปัญหาแบบนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าคน ๆ หนึ่งยังรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองเลือก หรือคิดว่าสิ่งนี้มันเป็นบาป เป็นสิ่งที่แก้ยากกว่ากฎหมายหรือการเอาตัวอ่อนออกไปจากมดลูกแน่นอน ดังนั้นจึงควรทำให้ผู้หญิงมั่นใจว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และการทำแท้งควรอยู่ในระบบประกันสุขภาพที่ผู้หญิงควรได้รับสิทธิตรงนี้
และสิ่งสำคัญอีกสิ่งที่จะทำให้เกิด Good Life คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติ การทำให้เห็นว่าการทำแท้งไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาปต้องประณามกัน มันก็เหมือนเวลาเราเดินตากฝนแล้วเป็นหวัด เราไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ ไม่โดนประณามว่าทำไมไม่ดูแลตัวเอง ท้องไม่พร้อมก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่าฝนตกหนักแล้วเรายังเดินฝ่าฝน ถ้าเราท้องขึ้นมา เราควรมีทางเลือกที่จะไปโรงพยาบาลหรือได้ซื้อยา โดยไม่มีใครมาตราหน้าว่าเราทำผิด
ที่มา : https://www.women-wellbeing.com สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561