ข่าวประชาสัมพันธ์/กิจกรรม งานเสวนา DOC TALK “ABORTION RIGHTS OR WRONGS : เสียงผู้หญิงคือคำตอบ”

งานเสวนา DOC TALK “ABORTION RIGHTS OR WRONGS : เสียงผู้หญิงคือคำตอบ”

งานเสวนา Doc Talk “Abortion Rights or Wrongs : เสียงผู้หญิงคือคำตอบ”

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา Documentary Club ร่วมกับ  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม สมาคมเพศวิถีศึกษา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กลุ่มทำทาง Women Help Women และ Women on Web จัดกิจกรรมดูหนังสารคดีเรื่อง “Jackson” ขึ้นที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลาตั้งแต่ 15.00 น.

หลังจบการชมภาพยนตร์ ได้มีการเสวนา Doc Talk ในหัวข้อ “Abortion Rights or Wrongs : เสียงผู้หญิงคือคำตอบ” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อตัวหนัง เชื่อมโยงกับประเด็นสิทธิการทำแท้งที่ว่า ‘ควรให้เป็นการเลือกของผู้หญิงที่ท้องเองหรือไม่’ โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เข้าชมภาพยนตร์ โดยมี ทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และนี่คือการสรุปเนื้อหาของการเสวนาที่น่าสนใจ

นพ. นิธิวัชร์ แสงเรือง – แพทย์อาสา RSA : การทำแท้งในบ้านเรากับที่อเมริกามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก อย่างแรกคือเรื่องของกฎหมาย บ้านเรายังค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่มากสำหรับผู้หญิงที่จะเข้ารับบริการการทำแท้งที่ปลอดภัย ต่างจากที่อเมริกาที่ค่อนข้างเปิดมากกว่า แต่จากหนังที่เราได้ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมือง Jackson มลรัฐ Mississippi ที่กฎหมายเปิดโอกาส แต่อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่าง เพราะกฎหมายดีจริงแต่กลับมีสองกลุ่มที่ต้านกันเอง คือกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้ง ซึ่งต่างจากที่บ้านเราที่แต่ละกลุ่มจะต่างคนต่างอยู่ ต่างทำหน้าที่ และไม่ออกมาเผชิญหน้ากัน

แต่สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา คือ ประชาชนสามารถใช้สิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง เพื่อเข้าถึงทุกโรคได้อย่างครอบคลุม แต่สำหรับโรคท้องไม่พร้อมยังมีปัญหาในการเข้าสู่การรักษา อย่างน้อยก็คือหมอหรือโรงพยาบาลไม่สามารถบอกหรือโฆษณาได้ว่าเป็นผู้ให้บริการการทำแท้ง และแต่ละแห่งที่ให้บริการก็มีข้อกำหนดในการทำแท้งที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันในแต่ละที่ ทำให้การทำแท้งยังเป็นเรื่องยากในการเข้าถึงและใช้บริการ

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง – แอดมินเพจ Thai Consent
มีหลายประเด็นในหนังที่น่าสนใจ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับเรื่องสังคม วัฒนธรรม

  • เรื่องความรู้ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นความรู้ที่ยังมีอคติ อย่างฉากที่มีคนบอกว่าถุงยางอนามัยก็คุมกำเนิดได้ 98% แต่ก็ยังมีคนที่ปฏิเสธที่จะเชื่อว่านั่นคือความรู้ หรืออย่างการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษา เช่น ไม่เคยมีข้อมูลที่บอกถึงอันตรายหรือความเจ็บปวดในการรักษาโรคมะเร็ง แต่กลับมีการให้ข้อมูลที่เหมือนจะทำให้คนกลัวและไม่กล้าทำแท้ง รวมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการเล่าถึงวิธีการทำแท้งก็ยังถูกบอกเล่าอย่างมีอคติ
  • สิทธิความไม่เท่าเทียมของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ซึ่งมีข้อจำกัดมากมายที่ผู้หญิงที่จะทำแท้งต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสมควรจะได้รับสิทธิการทำแท้งหรือไม่ หากแต่ผู้หญิงที่จะคลอดลูกกลับไม่ต้องพิสูจน์ถึงความพร้อมนี้ ประตูในการเข้าสู่การรับบริการไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรกแล้ว ผู้หญิงที่จะทำแท้งต้องผ่านด่านเยอะมากกว่าจะได้รับบริการ และเป็นด่านที่ไม่มีการจับเวลาด้วย และถ้าคุณไม่สามารถผ่านด่านได้ทันเวลาคุณจะไม่สามารถได้รับสิทธิในการทำแท้ง
  • เรื่องของความเชื่อ การให้คุณค่าความหมายกับการใช้คำเรียกชื่อ ซึ่งจะเห็นได้ในหลาย ๆ ฉาก เช่น ในตอนหนึ่งที่ตัวละครหญิงที่ตั้งครรภ์พูดถึงการแท้งครั้งแรกที่เกิดจากการกินยา ซึ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เรียกสิ่งนั้นว่าก้อนเลือด ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ไม่สนับสนุนการตั้งครรภ์กลับใช้คำเรียกว่าเด็ก การใช้คำเรียกชื่อมีนัยยะทางการเมือง มีการให้คุณค่าความหมายในการโน้มน้าวใจคนทั้งสิ้น
  • การให้ความช่วยเหลือที่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือแบบเป็นครั้งคราว ตัวละครผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมต้องเข้ารับบริการของกลุ่ม pro-life ที่ต่อต้านการทำแท้งเพราะมีสวัสดิการให้ ไม่ได้เข้าไปเพราะความเต็มใจ และการท้องที่ไม่พร้อมเป็นสิ่งที่ยากลำบากจริง ๆ เพราะเขาจะมีภาระตลอดไป ซึ่งกลุ่มที่ pro-life ดูเหมือนจะไม่ยอมรับความจริงในข้อนี้ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นในฉาก Movement สุดท้ายในหนังที่กลุ่ม pro-life บอกว่าได้รับชัยชนะแล้ว ซึ่งยังสงสัยว่ามันคือชัยชนะของใคร ของพวกเขาเองที่ไม่ได้ไปช่วยเลี้ยงลูก หรือเป็นของใคร เป็นคำถามสำคัญที่หนังเรื่องนี้ทิ้งเอาไว้
  • Sex Education ที่ไม่ช่วยให้คนเข้าใจเรื่องการ save sex ที่ถูกวิธี สะท้อนมาถึงบริบทในสังคมไทยที่มักจะสอนว่า “ถุงยางคือนิพพาน” แต่ไม่มีความรู้หลังการมี sex เรื่องความสัมพันธ์ที่ดี ความรู้ไม่ได้โตไปตามความเป็นจริงของชีวิตที่เป็น


ชีวิน วงษาทองไชย 
– ผู้ให้การปรึกษา สายด่วน 1663 : หากจะมีการตั้งคำถามที่ว่า “เป็นสิทธิของผู้หญิงไหมถ้าหากว่าท้องไม่พร้อมแล้วเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์” ในความเป็นจริงคงจะต้องบอกว่า มีผู้หญิงอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจคำว่า “สิทธิ” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือ เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา เขารู้ว่าความยากลำบากจะอยู่ที่ใคร ในยุคที่สภาพสังคม เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ การตั้งครรภ์ขณะที่มีความพร้อมและวางแผนไว้เป็นสิ่งที่ดี แต่หากตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมด้วยเหตุผลต่าง ๆ มันกลายเป็นปัญหาที่ผู้หญิงต้องอยู่กับมันอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งตั้งแต่ทำงานมายังไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนที่โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาด้วยความยิ้มแย้ม สบายใจ ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความอึดอัด เศร้า กลัวนั้นเพียงลำพัง

ในมุมของสายด่วน 1663 คิดว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้หญิง ที่จะตัดสินใจทำอะไรกับเนื้อตัวร่างกายของตัวเองก็ได้ และเมื่อเขาเลือกแล้วให้เขามั่นใจในทางเลือกนั้นว่าเขาจะไปได้และไปได้อย่างมั่นคง ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานกับ 1663 มีหลายเรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับพวกเรา หลาย ๆ ครั้งที่มีน้องที่มาปรึกษาบอกกับเราว่า “พี่เป็นใครก็ไม่รู้ เรื่องนี้หนูบอกใครไม่ได้เลย แต่พี่มาช่วยหนูได้ขนาดนี้ หนูไม่รู้จะพูดคำขอบคุณอย่างไร” ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรายังทำงานในเรื่องท้องไม่พร้อมอยู่ต่อไป

การแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมการเสวนา ต่อประเด็นในหนังและสิทธิการตัดสินใจต่อการทำแท้ง

  • ฟังจากเวทีแล้วมีหลายส่วนที่คิดว่ายังน่าจะเป็นความหวังที่ดีได้ ทั้งการที่ยาทำแท้งสามารถบรรจุในบัญชียาได้ หรือการเด็กสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของ 1663 ได้
  • ทัศนคติต่อประเด็นการทำแท้งของบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้การยอมรับเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ยังมองในเรื่องหลักศีลธรรมและความรับผิดชอบ แต่หากบุคลากรทางการแพทย์สามารถเปลี่ยนมุมมองเป็นการมองผุ้หญิงว่าเป็นเหยื่อของระบบ หรือมีความเชื่อในเรื่องของสิทธิ จะช่วยทำให้ปัญหาการทำแท้งในระบบบริการสาธารณสุขดียิ่งขึ้น
  • อยากให้มีกลุ่มเพื่อนที่เคยมีประสบการณ์มาช่วยน้อง ๆ หรือคนที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมคนอื่น ๆ ที่ไม่ต้องมีความรู้เรื่องทางการแพทย์ แต่ช่วยเสริมพลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
  • บางคนไม่สามารถเข้าถึงวิธีการในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น เด็กเข้าไม่ถึงถุงยางอนามัยเพราะมีราคาที่สูงเกินไป
  • การเข้าถึงกลุ่มคนที่ให้ความช่วยเหลือในการทำแท้งที่ปลอดภัยทำได้ยาก การหาข้อมูลในการทำแท้งเถื่อนจากสื่ออินเทอร์เนตเข้าถึงได้ง่ายกว่า

การเสวนาจบลง แต่การทำงานของกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการทำแท้งที่ปลอดภัยยังคงดำเนินต่อไป ควบคู่ไปกับความพยายามที่สร้างชุดความคิดใหม่ ที่ทำให้สังคมตระหนักว่า การทำแท้ง เป็นสิทธิที่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมทุกคนควรได้รับ เพราะการใช้ชีวิตที่อยู่บนความไม่พร้อมภาระหนักที่รอพวกเธออยู่ข้างหน้า และเป็นภาระที่หาคนมาช่วยรับผิดชอบและแบ่งเบาได้ยากมาก ส่วนความพยายามในการปรับทัศนคติที่จะไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา ที่จะกลายเป็นการสร้างตราบาปให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ก็ยังเป็นงานหนักที่เครือข่ายต้องช่วยกันทำ เพราะทุกชีวิตควรมีสิทธิตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง

ที่มา : https://www.women-wellbeing.com/

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 1

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
RSA Prompt คืออะไร
ปรึกษาท้องไม่พร้อม
คำนวณอายุครรภ์
คำถามที่พบบ่อย