นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยว่า การแท้งไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและตายของมารดา องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าแต่ละปีมีคนทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคนในจำนวนนี้ 20 ล้านคน ทำแท้งไม่ปลอดภัย และมีสตรีเสียชีวิตปีละ 70,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ95 เกิดในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยุติตั้งครรภ์ที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย-ถูกกฎหมายได้จึงไปทำแท้งเถื่อนหรือซื้อยายุติตั้งครรภ์จากอินเตอร์เน็ต
ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ศิริราช รามาธิบดี ขอนแก่น และสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนจาก Concept Foundation และองค์การอนามัยโลก ศึกษาวิจัยระบบให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา จากนั้นได้ผลักดันยาให้ขึ้นทะเบียนในปี 57 และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ในการบริการยุติตั้งครรภ์ตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา ซึ่งกว่า60 ปีมาแล้วที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยผู้ให้บริการต้องเป็นแพทย์มีใบประกอบวิชาชีพ เวชกรรม ในกรณีหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพกาย หรือปัญหาสุขภาพจิตหรือตั้งครรภ์กรณีถูกข่มขืน เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ค้าบริการทั้งที่ยินยอม-ไม่ยินยอมหรือล่อลวงอนาจาร แต่เนื่อง จากสถานบริการที่ให้บริการปลอดภัยยังมีน้อยมาก
ดังนั้น กรมอนามัยจึงได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ (RSA: Referral System for Safe Abortion) เพื่อการเข้าถึงบริการของวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งผู้มีปัญหาสามารถโทรไปที่สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 เพื่อรับบริการปรึกษาทางเลือก และส่งต่อดูแลไม่ว่าทางเลือกจะเป็นการตั้งครรภ์ต่อหรือยุติตั้งครรภ์ รวมทั้งให้บริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ
ที่มา : https://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=12&news_id=9738