Making decisions and right choices in life concept
Making decisions and right choices in life concept, youth style sneakers from above with arrows pointing to different directions as if person had variety of alternatives to choose from

บทเรียนจากการใช้ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘  นี่ก็ครบขวบปีที่สองแล้วสำหรับข้อบังคับที่ส่งผลต่ออนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีไทยฉบับนี้ ผมก็ยังไม่วายที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกทุกท่านอีกเช่นเคย ก่อนอื่นขออนุญาตทบทวนกันสักนิดว่า ในมาตรา 305 ที่เราๆพยายามทำความคุ้นเคยกันอยู่นั้นประกอบด้วย 2 วรรค วรรคแรกก็คือ การยุติการตั้งครรภ์ที่ครรภ์นั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดา อย่าลืมนะครับว่า คำว่าสุขภาพตามนิยามขององค์การอนามัยโลกนั้น รวมถึงสุขภาพกายและใจ

การใช้ข้อบังคับแพทยสภาฯนั้น ระบุว่า ในกรณีสุขภาพทางจิตนั้น แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้เลยโดยที่ไม่ต้องปรึกษาจิตแพทย์ (อย่าลืมว่าเราก็จบพบ.มาเหมือนกัน) และในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรงนั้น ในข้อบังคับฯก็ระบุว่า ความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของมารดาด้วยเช่นเดียวกัน อย่างนี้ เราก็สามารถให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ในสตรีที่มารับบริการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์แล้วพบว่ามีความผิดปกติได้ครับ วรรคที่ 2 กล่าวว่า การตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นจากความผิดอาญาอีก 5 มาตรา นั่นคือ 276 ว่าด้วยการถูกข่มขืนกระทำชำเรา 277 ว่าด้วยการทำให้เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีตั้งครรภ์ แม้ว่าจะเป็นการสมยอมหรือไม่ก็ตาม282 , 283, 284 ว่าด้วยการล่อลวงผู้อื่นมาทำอนาจาร สนองความใคร่ โดยใช้อุบายล่อลวง บังคับ ข่มขู่ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะเกิดการสมยอมกัน แต่ถ้าเหตุมาจากสาเหตุข้างต้น กฎหมายก็อนุญาตนะครับผมเขียนมาเพื่อย้ำเตือนกันครับ เพราะยังไงเสียก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบและไม่ให้การดูแลผู้หญิงไทยร่วมชาติของเราอยู่ ปล่อยให้เขาตกระกำลำบากไปตามยถากรรม

มาถึงตรงนี้ก็มีเรื่องเล่าให้ฟังกันครับ เมื่อราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ดูแลคนท้องรายหนึ่ง คนนี้เธอฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนภายใต้สิทธิ์ประกันตน จากสำนักงานประกันสังคม (ปกส.) เธอได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงก่อนอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ แล้วพบว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติคือ มีความพิการทางกายภาพของสมองอย่างรุนแรง ( porencephaly with ventriculomegaly) ร่วมกับน้ำคร่ำน้อยมากและเจริญเติบโตช้า (fetal growth restriction and severe oligohydramnios) ซึ่งหลังจากทราบการวินิจฉัย เธอก็ได้รับการให้การแนะนำปรึกษาและเลือกที่จะขอยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลต้นสังกัดได้แจ้งว่า เธอไม่สามารถใช้สิทธิ์จากการประกันตนได้จึงส่งตัวมาที่โรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่

จากนั้นโรงพยาบาลก็ได้จัดการเรื่องการยุติการตั้งครรภ์จนเป็นที่เรียบร้อย ผมจึงได้หารือกับหน่วยงานสิทธิประโยชน์ของโรงพยาบาลเพื่อดำเนินการเรื่องสิทธิ์ของผู้ประกันตน เขาก็ได้ติดต่อสอบถามและหารือไปยังสำนักงานประกันสังคมของจังหวัดซึ่งผมได้แนบเอกสารใบประกาศข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ ไปให้ด้วย ซึ่งทางสำนักงาน ปกส.จังหวัดก็ยืนยันกลับมาว่า ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์ได้ ทางเราจึงส่งเรื่องกลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของเขาเพื่อเก็บค่ารักษาพยาบาลครับ

คำตอบที่ได้รับก็คือ เขาไม่ยินดีทีจะจ่ายเงินให้ โดยมีเหตุผลว่า ความผิดปกติของทารกไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ประกันตนโดยตรงและไม่ใช่โรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ทั้งๆที่ทางหน่วยงานสิทธิประโยชน์พยายามอธิบายให้ฟังว่า เราได้อ้างอิงจากข้อบังคับแพทยสภาฯ การแปลความหมายและการยืนยันจาก ปกส.จังหวัดเมื่อเป็นดังนั้นเราจึงแจ้งไปยัง ปกส.จังหวัด และที่นั่นเขาได้หารือต่อไปยังกองประสานการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพ และได้รับคำตอบมาว่า

“กรณีที่ผู้ประกันตนจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพจิตของหญิงมีครรภ์ หากเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯได้” 

ดังนั้นโรงพยาบาลต้นสังกัดจึงต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมแล้วก็เป็นเงินจำนวน 4 ,641 บาท ทั้งหมดที่ได้เล่ามานี้ก็เพื่อบอกว่า เราคงต้องตระหนักในสิทธิ์ของผู้ป่วยของเราเสมอครับ หากเราไม่ทราบ ไม่แน่ใจก็ควรติดต่อสอบถามให้ได้ความ หน่วยงานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เขาจะช่วยเราได้ครับ อย่าลืมนะครับเราเป็นหมอ เราเป็นสูตินรีแพทย์ การช่วยเหลือผู้หญิงต้องเป็นงานของเราครับ  

ที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/149602 โดย ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบูญ

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.4 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 13

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่