เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 เวลา 9.00 -12.00 น. เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและเครือข่ายอาสา RSA จัดเสวนา “Let’s Talk Abortion” เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล 28 กันยายนของทุกปี ณ ห้องประชุมสานใจ อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ปัญหาหลักเรื่องทำแท้งในสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมีประเด็นสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรกเกี่ยวกับวิธีคิดที่ฝังอยู่ในกฎหมายอาญาของไทย ที่มองว่าการทำแท้งเป็นอาชญากรรม และผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและไปทำแท้งคืออาชญากร มีความผิดตามมาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาที่ลงโทษเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น มาตราอื่นๆเกี่ยวกับการทำผิดต่างๆ จะใช้คำว่า ‘บุคคล’ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มาตรานี้ลงโทษผู้หญิงทั้งๆที่ไม่มีผู้เสียหาย เพราะเป็นการตัดสินใจกระทำต่อร่างกายของตนเอง สิ่งที่เครือข่ายฯ ต้องการขับเคลื่อนคือ ต้องการยกเลิกมาตรา 301 นี้ แต่โดยส่วนตัวอยากให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งออกไปหมดคือ มาตรา 301-305 การทำแท้งจะทำได้อย่างไร แค่ไหน ให้เป็นเรื่องข้อบังคับทางสุขภาพไป
ประเด็นที่สอง แม้กฎหมายปัจจุบันจะมีข้อยกเว้นบางประการให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถทำแท้งได้ ใน 3 กรณีหลักๆคือ (1) การท้องเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและหรือสุขภาพใจของหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น (2) การท้องนั้นเป็นผลมาจากการการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 276 คือการทำให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาตั้งท้อง ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มาตรา 277 คือการข่มขืนกระทำชำเรา มาตรา 282, 283 และ 284 คือการใช้อุบาย หลอกลวงผู้หญิง มาสนองความใคร่ จนหญิงนั้นตั้งครรภ์ และ (3) ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการรุนแรง ทั้งนี้ผู้ทำให้ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ในข้อเท็จจริงแม้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่มีเหตุมาจากเงื่อนไขดังกล่าว ก็พบว่าแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐจำนวนมากปฏิเสธที่จะทำแท้งให้ จนผู้หญิงต้องไปหาสถานบริการเถื่อน หรือใช้ยาแบบไม่ปลอดภัย และเป็นอันตราย ต่อชีวิต การมีเครือข่ายอาสา RSA ได้ช่วยทุเลาปัญหานี้ไปได้บ้าง แต่ในเชิงระบบบริการที่ถูกต้อง รัฐโดยกระทรวง สาธารณสุขควรต้องออกมาผลักดันให้การบริการเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายเป็นบริการที่เกิดขึ้นจริงในทุกโรงพยาบาล ห้ามไม่ให้มีการปฏิเสธอีกต่อไป
นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ระหว่าง 1 ต.ค. 58 – 30 มิ.ย. 61 มีผู้มารับบริการปรึกษาจากสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อม จำนวน 52,370 ราย รู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว 29,191 ราย และตัดสินใจเลือกยุติการตั้งครรภ์ 19,097 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.4 ของผู้รับบริการที่ตั้งครรภ์แล้ว
ทั้งนี้ เฉพาะตุลาคม 60 – มิถุนายน 61 มีผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมารับบริการปรึกษากับ 1663 จำนวน 12,215 ราย และตัดสินใจเลือกยุติการตั้งครรภ์ 8,577 ราย และในจำนวนนี้มีอยู่ 652 รายหรือร้อยละ 7.6 ที่ได้เปิดเผยว่า ได้ทำการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองก่อนจะโทรมาปรึกษา และในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 36 รายที่มีปัญหาสุขภาพของแม่หรือตัวอ่อนในครรภ์ที่อยู่ในเกณฑ์ทางการแพทย์แต่ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลว่า โรงพยาบาลไม่มีบริการยุติการตั้งครรภ์ให้
“สำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ควรมีทางเลือกในการจัดการแก้ไขปัญหา เพราะการมีทางเลือกดีกว่าไม่มีทางเลือก ยิ่งมีหลาย ๆทางเลือกจะยิ่งดี เพราะคนจะเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ในปัจจุบันสำหรับผู้หญิงทีท้องไม่พร้อม แทบจะไม่มีทางเลือกอะไรเลย” นายสมวงศ์กล่าว
ด้านนายแพทย์สมชาย พีระปกรณ์ สมาชิกเครือข่ายอาสา (RSA :Referral system for safe abortion) และพนักงานบำนาญองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานเรื่องการเสียชีวิตของผู้หญิงพบว่า การเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งนี้ในประเทศที่เจริญแล้วอัตราการตายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยจะน้อยมากเพราะประเทศเขามีการจัดระบบบริการที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์ หากประเทศไทยสามารถทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เชื่อว่าความรุนแรงของปัญหาท้องไม่พร้อมจะลดลง ผู้หญิงจะไม่พึ่งพาบริการทำแท้ง “ใต้ดิน” เพราะสามารถเดินเข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้
“โรงพยาบาลควรมีระบบที่ดีในการให้บริการผู้หญิงท้องไม่พร้อม เมื่อผู้หญิงเดินเข้าไปควรรู้ว่าเขาจะได้ปรึกษากับใคร ทางเลือกของเขามีอะไรบ้าง และหากตัดสินใจเลือกแล้วจะมีขั้นตอนกระบวนการในการจัดการปัญหาอย่างไร เหมือนเรื่องเบาหวาน ผู้ป่วยไปตรวจน้ำตาลในเลือด รพ.ก็จะมีป้ายระบุขั้นตอนและผลกระทบต่อสุขภาพหากมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงให้ผู้ป่วยได้ทราบ เรื่องท้องไม่พร้อมก็ควรทำแบบนี้ได้เช่นกัน” นายแพทย์สมชายกล่าว
นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักการอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า กรมอนามัยสนับสนุนให้เกิดนโยบายเพื่อลดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เช่น การสนับสนุนให้ยายุติตั้งครรภ์ Medabon เข้าสู่บัญชียาหลัก การสนับสนุนเครือข่ายอาสา RSA และมีส่วนผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องความปลอดภัยในการยุติการตั้งครรภ์เท่านั้นแต่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมด้วย
ด้านนางทัศนัย ขันตยาภรณ์ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า กฎหมายในปัจจุบันแม้ว่าจะเปิดช่องให้ผู้หญิงที่ไม่พร้อมสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นกฎหมายที่ยังขัดกับสิทธิและหลักความเสมอภาค ทั้งนี้ อยากสื่อสารกับสังคมว่าการทำแท้งไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เป็นการดูแลรักษาทางการแพทย์โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยของผู้หญิง โดยช่วงบ่ายของวันนี้ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายอาญาดังกล่าวขัดต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ โดยสาระสำคัญของหนังสือที่จะไปยื่นให้ตีความคือ เสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 301 เพราะขัดกับหลักความเสมอภาคหญิงชายและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายผู้หญิง ส่วนมาตรา 305 301 และ 302 ที่ระบุว่าการยุติการตั้งครรภ์สามารถกระทำได้โดยแพทย์ หากเนื่องมาจากสุขภาพของผู้หญิง และการตั้งครรภ์เกิดจากกลุ่มคดีทางเพศตามกฎหมายอาญานั้น ขอให้เพิ่มเติมข้อยกเว้นได้แก่ กรณีอายุครรภ์ของหญิงนั้นไม่เกิน 12 สัปดาห์ กรณีการตั้งครรภ์ส่งผลต่อสภาพจิตใจ กรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการหรือเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม และในส่วนของผู้กระทำ ขอให้เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้ความควบคุมของแพทย์ด้วย
ทั้งนี้ นอกจากยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมและเครือข่ายอาสา RSA จะจัดกิจกรรมรณรงค์ “การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร” ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญหลังยื่นหนังสือด้วย