ปัญหาหลักเรื่องทำแท้งในสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมีประเด็นสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรกเกี่ยวกับวิธีคิดที่ฝังอยู่ในกฎหมายอาญาของไทย ที่มองว่าการทำแท้งเป็นอาชญากรรม และผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและไปทำแท้งคืออาชญากร มีความผิดตามมาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาที่ลงโทษเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น มาตราอื่นๆเกี่ยวกับการทำผิดต่างๆ จะใช้คำว่า ‘บุคคล’ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มาตรานี้ลงโทษผู้หญิงทั้งๆที่ไม่มีผู้เสียหาย เพราะเป็นการตัดสินใจกระทำต่อร่างกายของตนเอง ภาษาอังกฤษว่า victimless crime สิ่งที่เครือข่ายต้องการขับเคลื่อนคือต้องการยกเลิกมาตรา 301 นี้ แต่โดยส่วนตัวอยากให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งออกไปหมดคือ มาตรา 301-305 การทำแท้งจะทำได้อย่างไร แค่ไหน ให้เป็นเรื่องข้อบังคับทางสุขภาพไป
ประเด็นที่สอง แม้กฎหมายปัจจุบันจะมีข้อยกเว้นบางประการให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถทำแท้งได้ ใน 3 กรณีหลักๆคือ (1) การท้องเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและหรือสุขภาพใจของหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น (2) การท้องนั้นเป็นผลมาจากการการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 276 คือการทำให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาตั้งท้อง ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มาตรา 277 คือการข่มขืนกระทำชำเรา มาตรา 282, 283 และ 284 คือการใช้อุบาย หลอกลวงผู้หญิง มาสนองความใคร่ จนหญิงนั้นตั้งครรภ์ และ (3) ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการรุนแรง ทั้งนี้ผู้ทำให้ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ในข้อเท็จจริงแม้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่มีเหตุมาจากเงื่อนไขดังกล่าว ก็พบว่าแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐจำนวนมากปฏิเสธที่จะทำแท้งให้ จนผู้หญิงต้องไปหาสถานบริการเถื่อน หรือใช้ยาแบบไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายต่อชีวิต การมีเครือข่ายอาสา RSA ได้ช่วยทุเลาปัญหานี้ไปได้บ้าง แต่ในเชิงระบบบริการที่ถูกต้อง รัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขควรต้องออกมาผลักดันให้การบริการเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายเป็นบริการที่เกิดขึ้นจริงในทุกโรงพยาบาล ห้ามไม่ให้มีการปฏิเสธอีกต่อไป
ที่มา : กิจกรรมรณรงค์เพื่อการเข้าถึงบริการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม Pro Voice 5 : Let’s Talk about Abortion – เนื่องในวันยุติตั้งครรภ์สากล 28 กันยายน ของทุกปี