โครงการวิจัยประเมินการใช้ยา มิฟิพริสโตน (Mifepristone) และ ไมโซพรอสตอล (Misoprostol) ชนิดบรรจุในแผงเดียวกันเพื่อยุติการตั้งครรภ์ หลังได้รับการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย
นายแพทย์ประวิช ชวชลาศัย สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย
HEALTH_Vol40No4_09
บทคัดย่อ
การศึกษาประเมินการใช้ยามิฟิพริสโตนและไมโซพรอสตอลชนิดบรรจุในแผงเดียวกันเพื่อยุติการตั้งครรภ์หลัง ได้รับการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้ยาและผลการใช้ยามิฟิพริสโตน และไมโซพรอสตอลชนิดบรรจุในแผงเดียวกันเพื่อยุติการตั้งครรภ์เมื่ออยู่ในระบบบริการปกติของหน่วยบริการหลังได้รับ การขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive study) เก็บข้อมูล จากแบบบันทึกข้อมูลในรายงาน MTP-03-2 และแบบฟอร์มรายงานการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์
กลุ่มเป้าหมาย คือผู้ที่มารับบริการการใช้ยาช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2558 ถึง เดือนธันวาคม 2559 มีจำนวนทั้งหมด 2,305 ราย วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาโดยหาจำนวน และร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มารับบริการมีทั้งวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ มีอายุอยู่ระหว่าง 12-49 ปี พบจำนวนมากที่สุดอายุ 20 ปี ช่วงอายุ 18-24 ปีที่มาใช้บริการมากที่สุดร้อยละ 34.40 และ ร้อยละ 14.75 ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
สาเหตุของการยุติตั้งครรภ์พบมากที่สุดคือปัญหาทางด้านจิตใจพบร้อยละ 75.40 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้บริการมากที่สุดคือร้อยละ 39.13 รองลงมาเป็นภาคเหนือร้อยละ 30.85 ประเภทหน่วยบริการ ที่ให้บริการมากที่สุดคือคลินิกเอกชน (สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย) พบร้อยละ 35.23 รองลงมาเป็น โรงพยาบาลอำเภอพบร้อยละ 34.97 ผลการใช้ยามีประสิทธิภาพสูงพบว่าแท้งครบ ร้อยละ 93.64 และถ้าใช้กับอายุครรภ์ ไม่เกิน 9 สัปดาห์ (63 วัน) จะมีประสิทธิภาพและได้ผลดีกว่าคือแท้งครบร้อยละ 95.63 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ โครงการนำร่องที่พบว่ามีประสิทธิภาพได้มากกว่าร้อยละ 95 วิธีคุมกำเนิดที่ถูกเลือกใช้มากคือ ยาเม็ดคุมกำเนิด ร้อยละ 31.47 รองลงมาเป็นยาฝังคุมกำเนิดร้อยละ 29.38 ส่วนวิธีที่ถูกเลือกใช้น้อยที่สุดคือห่วงคุมกำเนิด ร้อยละ 0.72
การใช้ยามิฟิพริสโตนและไมโซพรอสตอลชนิดบรรจุในแผงเดียวกันเพื่อยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีผลประสิทธิภาพสูง สำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการไปทำแท้งเถื่อนได้มาก และเป็นการลดความเสี่ยง จากการทำหัตถการ
ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวง สาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลและสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน โรงเรียน ชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ ในการส่งต่อผู้รับบริการ เช่น Path 2 Health และ Women on web ต้องมีบทบาทหลักในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการขยายระบบบริการยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และให้เกิดความยั่งยืนต่อไป คำสำคัญ: ยาเพื่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์, การขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย
ที่มา : วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีที่ 40 ฉบับ ตุลาคม – ธันวาคม 2560