กฎหมายทำแท้งในไอร์แลนด์ได้ผ่านสภาเมื่อ 13 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองใช้เป็นกฎหมายประเทศต่อไป
เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็น “ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” ถือเป็น “บทสิ้นสุดการเดินทางอันโดดเดี่ยว และการตีตราผู้หญิงที่ทำแท้ง” เพื่อสนับสนุนสิทธิทางเลือกของผู้หญิงในไอร์แลนด์
ในอดีต ประเทศไอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในสองของประเทศในยุโรปที่ห้ามการทำแท้งทุกกรณี (อีกประเทศคือมอลต้า) เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การแก้กฎหมาย คือย้อนกลับไปในปี 2555 ทันตแพทย์หญิงชาวไอริช Savita Halappanavar ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ ตรวจพบตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติรุนแรง เธอและสามีร้องขอให้แพทย์ทำแท้งเพื่อรักษา แต่ถูกปฏิเสธและบอกว่าที่นี่โรงพยาบาลคาทอลิก สองวันต่อมาเธอก็ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเดียวกันนั้นเอง
การตายของ Savita สร้างความสะเทือนใจคนทั้งประเทศ ชาวไอริชพากันออกมาเดินประท้วงอย่างสันติพร้อมชูป้าย “Never Again” เพื่อบอกกับชาวโลกว่า “ขออย่าให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก” และเรียกร้องว่า “สิทธิในการทำแท้งควรเป็นของผู้หญิง ไม่ใช่อำนาจรัฐหรือการชี้นำของศาสนจักร” มีการจัดงานรำลึกถึงการตายของเธอทุกปี จนนำมาสู่การทำประชามติให้มีกฎหมายอนุญาตทำแท้งได้ในปี 2560 ผลการลงมติ สองในสาม หรือ 66.4% เห็นด้วยกับกฎหมายนี้
ภายใต้กฎหมายที่ผ่านสภานี้ ผู้หญิงสามารถตัดสินใจทำแท้งได้ที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ เมื่อพบว่าตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ หรือเมื่อผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ
ข้อมูลและภาพจากเว็บไซต์ iristimes, cnn, bbc และ thairath