เสนอตำรวจหยุดจับและดำเนินคดีกับการให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยโดยแพทย์ ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ากฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
วันที่ 20 ธ.ค.61 เวลา 09.30 น. ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงท้องไม่พร้อม และเครือข่ายอาสา RSA (Referral system for Safe Abortion) แถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายอาญา ม.301-305 ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ม. 301 ที่ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือ การตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากฝ่ายหญิงเท่านั้น กฎหมายนี้จึงจงใจละเลยการเอาผิดกับผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงท้อง ซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ระบุไว้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทั้งหญิงและชายต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม จึงขอให้ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณานั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและครอบครัว ตามสิทธิความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ และขอให้ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ทนายความ และศาล รับรู้และให้ความสำคัญต่อการรับคำร้องนี้ กรณีตำรวจเสนอให้หยุดจับและหยุดดำเนินคดีกับการให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยโดยแพทย์
“เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และ เครือข่ายอาสา RSA หวังว่าผู้หญิงที่ประสบปัญหาจะเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย และแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจะทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี อันจะส่งผลต่อการให้บริการที่ปลอดภัยในระบบสุขภาพเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพื่อการป้องกันและลดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของผู้หญิงจากการทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย ที่ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย” รศ.ดร.กฤตยา กล่าวและว่า
การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการตีความกฎหมายทำแท้งมาตรา 301-305 ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 212 นั้น มีนัยว่า การตัดสินคดีใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ ต้องรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ที่อาจจะถูกละเมิดสิทธิจากกฎหมายที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นพ.อมร แก้วใส ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA กล่าวว่า ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ขอให้ บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับไม่หวาดหวั่นต่อการช่วยเหลือผู้หญิงให้เข้าถึงการทำแท้งทางการแพทย์ที่ปลอดภัย รวมทั้งลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการดังกล่าว และขอให้ตำรวจมุ่งเป้าหมายไปที่การกวาดล้างการทำแท้งเถื่อน และการขายยาทำแท้งออนไลน์ เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากกกว่าการจับคุมบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขกฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา ทั้งนี้ มีหลักฐานชี้ชัดว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยต่ำกว่าการทำแท้งเถื่อนถึง 300 เท่า
“กฎหมายอาญาดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2500 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการยุติการตั้งครรภ์เพียงกรณีความจำเป็นทางสุขภาพและการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากความผิดทางอาญา แต่ต้องเข้าใจว่าบริบททางสังคมและการแพทย์ในสมัยนั้นล้าหลังมาก ในขณะที่สังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป การแพทย์ก็ก้าวหน้ามาก จึงจำเป็นที่ต้องยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นพ.อมร กล่าว
ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยเล็งเห็นความสำคัญในการลดอันตรายของภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และการพัฒนาการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วยยาในประเทศไทยจึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้สามารถจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ มาตรา 305 กำหนดข้อยกเว้นให้แพทย์ทำการยุติการตั้งครรภ์ให้หญิงมีครรภ์ได้ 2 กรณี คือ 1. มีความจำเป็นเนื่องจากสุขภาพของหญิง หรือ 2. หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา เช่น กรณีผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ตาม ความไม่พร้อมของผู้หญิงเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งบางปัจจัยอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้หญิงไปยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยและเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและการเสียชีวิต ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ในแต่ละปีมีการยุติการตั้งครรภ์ทั่วโลกประมาณ 45 ล้านคน โดย 25 ล้านคนเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 97 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย