Sex symposium มันมีชื่อไทยว่า “การประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ ๓ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” จะยาวไปไหนวะ มันถูกจัดขึ้นมาโดย สสส. และหน่วยงานใหญ่ๆร่วมด้วยอีกหลายหน่วยงาน เค้าเชิญผมมาร่วมในการบรรยายในหัวเรื่อง “มุมมองของแพทย์ต่อการทำแท้งที่ปลอดภัย”
“ชื่อเชยจังครับอาจารย์” ผมบอกกับอาจารย์ที่เคารพรักในฐานะที่ท่านจะเป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงผม ท่านเคยเป็นประธานราชวิทยาลัยสูติฯ ของผมเอง ท่านบอกว่า กลัวคนไม่เข้าฟัง
“ก็เล่นตั้งขื่อเสียแบบนี้” ผมยังไม่เลิก
“แล้วแป๊ะจะตั้งขื่อว่าอย่างไร” เลยถูกท่านย้อนกลับ
“หมอ ช่วยหนูด้วย หนูท้อง” ผมเสนอ
ห้องของผม อยู่นั่นไง ๔๐๑ เด็กเต็มห้อง ห๊ะ เด็กนักเรียนเต็มห้อง!
ชิหา…ที่เตรียมมาเมื่อคืนไม่ใช่เพื่อเด็ก เนื้อหงเนื้อหาออกแนวแม่นาคพระโขนง มดลูกแตก ไส้กระจาย แล้วนักเรียนจะฟังเรื่องนี้ได้อย่างไร ว่าแล้วก็เหงื่อเริ่มซึม นี่ผมมีเวลาเตรียมใหม่ราวชั่วโมงนึงเนื่องจากต้องพูดเป็นคนท้ายสุด
ดินสอและกระดาษถูกหยิบมา ผมนึกถึงพี่นักบินที่สอนมาวันก่อน เอาวะ คราวนั้นเตรียมแค่ ๕ นาทีเอง
“สวัสดีครับ พี่แป๊ะนะครับ” ประโยคแรก ทำเอาคนเริ่มตื่นเจ้าหนูน้อยคนนั้นมันหลับตั้งแต่สิบนาทีแรกเผยอหน้าขึ้นมาดู
“เรียกพี่นะครับ เพราะจะเรียกอาก็คงดูหัวงูไปนิด” คราวนี้เริ่มได้ยินเสียงหัวเราะ
“ผมขอเวลาเพียง ๑๕ นาทีนะครับ” เวลามันเหลือแค่นี้จริงๆ
“แล้วจะเข้าใจว่า พี่แป๊ะมายืนตรงนี้ทำไม” อันนี้คือสูตร intro ที่เพิ่งเรียนมา
“เอาล่ะ ใครเป็นนักเรียนบ้าง” มีคนยกมือราว ๓๐% “ครู” ๖ คน “นักสังคมฯ” เกือบสิบคน “นอกนั้น คงมีอาชีพอิสระ” ผมสรุป
“ใครไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งบ้าง”
เด็กนักเรียนทุกคนและผู้ใหญ่อีกราว ๒๐% ของห้องยกมือรวมถึงคุณครูกลุ่มนั้นด้วย
“ใครเห็นด้วย” ที่เหลือแหละนะ เพราะผมประเมินแล้วว่า ไม่มีใครไม่ยกมือ
“ผมจะดำเนินการสนทนาด้วยคำถาม ๓ ข้อ เอิ่ม..น้องครับ ช่วยจับเวลาให้พี่แป๊ะหน่อย ๔ โมง ๓๕ นาทีให้บอกเลยนะครับ พี่จะกลับหาดใหญ่ทุ่มนึง” ผมบอกเจ้าหนูตัวจ้อยนั้น เธอเป็นเด็กประถม อายุ ๑๒ ปี
“ข้อแรก ท้องแล้วมีทางออกอะไรบ้าง” “ทำแท้ง” พี่นักสังคมคนนั้นตอบเสียงดัง “ให้นักสังคมเลี้ยง” ป้าที่นั่งอีกด้านคนนั้นสนองตอบ เด็กๆ นักเรียนนั่งนิ่ง นั่นเพราะเขาคงงงกระมัง
“เอางี้ ผู้หญิงท้องได้ยังไง” มีนักเรียนชั้นม.ปลายนั่งอยู่บ้างทางนั้น แต่คำตอบจากพวกเธอยังไม่มี
“น้องท้องได้มั้ย” ผมเปลี่ยนรูปแบบคำถาม เจ้าหนูวัย ๑๒ ปีตอบ
“๑๖ ปีท้องได้มั้ย” ได้ หึหึ เสียงเริ่มมา แบบนี้ก็เข้าทางผม “๔๐ ปีล่ะ” “ได้ค่า” แหม่ มีทอดเสียง “๔๘ ล่ะ”
“ก็ได้ค่า” “เอิ่ม มันมากไปมั้ย สงสัยตอนนั้นคงได้อ๊วกออกมาเป็นตัวแน่ๆ คนมันวัยทองแล้วเฟ้ย” เสียงหัวเราะเริ่มดัง คราวนี้ทุกคนตื่น
“มีคนบอกว่าให้กลับไปเรียนต่อ เมื่อกี๊ผู้ใหญ่ทั้ง ๕ ก็บอกว่าให้เรียน หยุดสักเทอมแล้วค่อยมาเรียน ไม่ก็ย้ายไปเรียนที่อื่น” มีคนพยักหน้าหลายคนมาก
“ถามจริงเถอะลูก ถ้าลูกจะต้องหยุดเรียนด้วยเรื่องแบบนี้ ลูกจะรู้สึกยังไง” ผมถามเจ้าหนูวัย ๑๖ ที่นั่งแสดงท่าสนใจ พอพูดเรื่องเรียนแบบนี้ มันก็คือลูก
“เสียใจค่ะ” เธอตอบ “หมอถามหน่อย ลูกอยากเรียนจบพร้อมเพื่อนไหม อยากเขียนเสื้อเพื่อน อยากให้เพื่อนเขียนเสื้อเราบ้างไหม” เธอพยักหน้า
เธอบอกว่าคงรู้สึกเสียใจมากๆ ที่ไม่ได้จบพร้อมกัน เธออยากจับมือเพื่อนๆ ถ่ายรูปในวันปัจฉิมนิเทศ
ผมคิดถึงลูกสาวขึ้นมาทันที เธอเองไม่ยอมไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองนอกทั้งๆ ที่เรียนแสนเก่ง
“แป้งอยากเรียนจบพร้อมเพื่อน ไม่อยากเรียนกับรุ่นน้อง” เธอเคยให้เหตุผลแบบนี้ซึ่งผมก็ไม่เคยถามซ้ำอีกเลย
“แล้วที่เราเคยบอกให้เด็กท้องต่อ หยุดเรียนแล้วค่อยกลับมาใหม่น่ะ มันกลับมาสักกี่คน” เพราะในชีวิตการเป็นหมอสูติมานั้น เด็กๆ ที่ท้องแถวบ้านผม ไม่มีใครอยากกลับไปเรียนใหม่สักคน มีบ้างล่ะ แต่นั่นผมก็ไม่เคยได้คุยกับพวกเธอหลังคลอดอีกเลยนะ
“ที่เราบอกให้เด็กทำทุกอย่างนั้น เคยถามเค้าไหม ว่าเขาคิดอย่างไร เขาได้มีโอกาสเลือกไหมว่าจะเดินอย่างไร” ผู้ใหญ่ค่อนห้องทั้งพยักหน้าและส่ายหัว ผมไม่ได้แปลความหมาย เพราะนั่นคืออาจจะพยักหน้าเห็นด้วยว่าไม่ได้ถาม หรือไม่ก็ส่ายหน้าเพราะไม่เคยถามจริงๆ
“เราตัดสินเค้าใช่ไหมครับ” เสียงหัวเราะแว่วมา
“เอาล่ะ หมอธนพันธ์เป็นชายหรือหญิง” ผมถามแบบนี้ ทั้งห้องจึงเงียบอีกครั้ง
“ชาย” เสียงดังเชียว
“รู้ได้อย่างไร” ผมถาม
“แบน” ห๊ะ อะไรแบน เจ้าหนุ่มคนนั้นเอามือจับนมตัวเองให้ดูแทนคำตอบ
“มีจู๋” เด็กชายกลุ่มนั้นสักคนตอบมา
“เคยเห็นเหรอ” หัวเราะได้อีก
“ผมเป็นตุ๊ดมั้ย”
“ไม่ค่ะ เพราะหมอบอกว่ามีลูก” เสียงด้านหลังดังมา
“เออ มีลูกแล้วเป็นเกย์ไม่ได้เหรอ ที่ผ่านมาน่ะ ลวงโลกมาตลอด” เอ้า เฮ
(เอิ่ม..มันคืออรรถรสทางบทละครนะครับ โปรดอย่าถือสา ผมน่ะ จบเอกการละครมา)
“เห็นไหมครับ พวกเราตัดสินว่าผมเป็นชาย ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รู้จักกันมาก่อนเลย เราตัดสินคนเก่งกว่าการที่จะมองเฉพาะความจริงตามที่เห็น” จริงใช่ไหม เรารัก ชอบ โกรธ หลง เพราะเราตัดสินใจแบบนั้น
“แล้วเรามักจะไปตัดสินเด็กๆ ของเรา” คราวนี้ผมหันไปมองเฉพาะผู้ใหญ่ในห้อง
“เอาล่ะ กลับมาคำถามที่ ๒ นะครับ ถ้าเค้าอยากทำแท้ง แล้วพี่แป๊ะไม่ทำให้ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น”
“ก็ไปทำแท้งเถื่อน” เจ้าหนูผู้ชายคนนั้นน่าจะอยู่ม.ต้นตอบเสียงดัง “นี่ พี่ถามจริงเหอะ รู้มั้ย ว่าเค้าทำแท้งกันยังไง อะไรเรียกว่าทำแท้ง อันนี้เป็นคำถามแทรก” คราวนี้เด็กๆตอบไม่ถูก
“มีใครเคยเห็นการทำแท้งบ้าง” เฮ้ย มีเด็กยกมือ “ดูในข่าวค่ะ” เออ โล่งไป อย่างนั้นเรียกดูข่าว ไม่ได้เรียกว่าเห็นการทำแท้ง แน่ล่ะ มันจะไปตอบถูกได้อย่างไร แต่มันก็บอกอะไรเราหลายอย่างในคำตอบนี้นะครับ เพราะข่าวสมัยนี้ มันก็ออกกันแบบนี้ทั้งนั้น โหดเลวชาติ มีให้เห็นทุกเช้า คราวนี้ผมอธิบายให้เค้าฟังว่า “แท้ง” กับ “คลอด” ต่างกันอย่างไร และเมื่อเห็นการพยักหน้าและแววตาของเด็กๆ ที่แสดงว่าเข้าใจ จึงดำเนินการสนทนาต่อไป ผมเล่าเรื่องการบาดเจ็บและการตาย คราวแรกกะจะเล่าแบบสยองขวัญ แต่เมื่อเห็นผู้ฟังตัวเท่าลูกแมวนั่งอยู่
จึงเล่าเรื่องเจ้าหนู ๑๘ ปีที่ตายคาเตียงคลอดให้ฟัง แล้วถามว่า“เค้าตาย ใครร้องไห้บ้าง” ผมสังเกตเห็นสาวน้อยคนนั้นซับน้ำตา เด็กๆ น่ารักมากนะครับ คนเสียใจคือใครบ้างถูกตอบมาคนแล้วคนเล่า ฝ่ายผู้ใหญ่ก็พยักหน้าเห็นด้วย
“นั่นดิ เสียใจกันมากเลยนะ จะบอกให้ว่า ชีวิตนี้ พี่เห็นคนตายเพราะทำแท้งเถื่อนมาหลายคน” เมื่อเข้าโหมดปกติ พี่แป๊ะก็มาอีกหน “บางคนเป็นแม่ ที่มีลูกอายุเท่าๆ พวกน้องนี่แหละ ถามจริงเหอะ นี่ถ้าหากว่าแม่จะทำแท้ง เพราะอยากจะอยู่เลี้ยงพวกลูกๆ อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ อยากให้ลูกกินอิ่ม หมอถามจริงๆ จะให้แม่มาทำแท้งกับหมอมั้ย ทำกับหมอแป๊ะ แม่ไม่ตาย”
“ไม่ค่ะ” เจ้าหนูวัย ๑๑ ปีตอบเสียงดัง “เฮ้ย แม่เธออาจจะตายได้นะ” เจ้าเพื่อนข้างๆ สะกิด
“อ้าวเหรอ แล้วแม่จะตายได้ไงล่ะ แม่เราไม่ได้ท้องสักหน่อย” เจ้าตัวงงว่าตัวเองตอบผิดตรงไหน
“เออ ถูกนะ” ผมหัวเราะเสียงดัง
“ผมไม่มีคำถามที่ ๓ แล้วนะครับ เพราะเวลาหมด เอาเป็นว่าทุกคนคงได้ทราบแล้ว ว่าผมคิดอย่างไรกับการท้องไม่พร้อม การบาดเจ็บการตายจากการทำแท้งเถื่อนยังมีอยู่จริง แต่พวกเราอาจจะไม่อิน จนกระทั่งวันหนึ่ง คนๆ นั้นคือลูกสาวของเรา”
คัดมาจาก
ธนพันธ์ ชูบุญสูดดมพีเอ็มสองจุดห้า ๒๘ มค ๖๒
อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://web.facebook.com/thanapan.choobun/posts/2050197925027392
การประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน วันที่ 28 มกราคม 2562 หัวข้อ “มุมมองของแพทย์ต่อการทําแท้งที่ปลอดภัย” รายงานโดย : rsathai.org