2541 แพทย์และนักวิชาการทั่วโลกมีการปรึกษาหารือเรื่องยายุติการตั้งครรภ์เพื่อลดการตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย
2547 องค์การอนามัยโลก ศึกษาวิจัยระดับโลก ผลยืนยันว่ายาปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ และบรรจุในบัญชียาหลักของโลก
2548 เริ่มศึกษายาครั้งแรกในประเทศไทย แต่การที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ การทำแท้งเป็นเรื่องบาป เชื่อว่าผู้หญิงท้องไม่พร้อมไม่ดี เด็กวัยรุ่นสำส่อน อีกทั้งกฎหมายคลุมเครือ สังคมเชื่อว่าการทำแท้งผิดกฎหมายทุกกรณี มายาคติเหล่านี้ส่งผลให้มียาทำแท้งเถื่อนคุณภาพต่ำเกลื่อน ราคาแพง หาซื้อได้ทางออนไลน์ แต่กลับไม่มีบริการในระบบสุขภาพ
2554 เริ่มความพยามอีกครั้ง เพื่อให้ประเทศไทยมียาที่มีประสิทธิภาพในระบบสุขภาพ โดยใช้องค์ความรู้ขับเคลื่อน เริ่มจากการศึกษาวิจัยการใช้ยาในระบบบริการ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจต่อคนในสังคม เป็นความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายประชาสังคม
2557 เป็นต้นมา ยายุติการตั้งครรภ์ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน ยายุติการตั้งครรภ์ที่ขึ้นทะเบียน ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ไม่มีที่ร้านขายยา และไม่ขายทางอินเทอร์เน็ต แต่มีให้บริการในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพิเศษกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเป็น ”แพทย์อาสา RSA” (Referral System for Safe Abortion) เพื่อป้องกันวัยรุ่นและผู้หญิงตกเลือดและเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย
ที่มา : ที่ผู้สื่อข่าว RSA รายงานจากการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน วันที่ 28 มกราคม 2562 หัวข้อ “ความสําเร็จในการเดินทางของยายุติการตั้งครรภ์: จากใต้ดินสู่ระบบสุขภาพ”
ผู้ดําเนินการอภิปราย : นพ. บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยผู้อํานวยการสํานักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย
วิทยากร: ดร.วรรณภา นาราเวช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ , นพ.ชาญชัย บุญอยู่ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา , นพ.สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อํานวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่