ฟังท่านพุทธทาส พูดเรื่องการทำแท้ง
โดย ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย ภาควิชาสูติศาสตร์นรีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ประเด็นเรื่องการทำแท้งหรือที่เรียกในปัจจุบันว่าการยุติการตั้งครรภ์ เป็นประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อถกเถียงในทางจริยธรรมว่าทำได้หรือไม่ (Ethical dilemma) แนวความคิดเรื่องการทำแท้งมีมากมายหลายทฤษฎีตั้งแต่ไม่ยอมให้ทำแท้งเลยไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ไปจนถึงอีกสุดขั้วหนึ่งคือทำแท้งได้ในทุก ๆ กรณี โดยที่มีแนวความคิดอีกมากมายหลายสำนักที่อยู่ระหว่างทั้งสองขั้วนี้ อย่างไรก็ตามพอจะ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่สนับสนุนให้ผู้หญิงเลือกเองหรือ Pro-choice และกลุ่มที่สนับสนุนสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนหรือ Pro-life

กลุ่ม Pro-life เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านการทำแท้ง เนื่องจากเห็นว่าชีวิตของตัวอ่อนหรือทารก มีคุณค่าเทียบเท่ากับเป็นบุคคลอีกผู้หนึ่ง หรือที่เรียกกันว่ามีสถานะเป็นบุคคล (personhood) ดังนั้นจึงมีสิทธิที่จะมีชีวิต (right to life) และใครจะละเมิดมิได้ องค์กรที่สนับสนุนแนวคิด Pro-life อย่างเข้มแข็งชัดเจนที่สุดคือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก มีแนวความคิดว่าชีวิตที่เกิดมาเป็นไปตามแผนการของพระเจ้าและมีความศักดิ์สิทธิ์ (sanctity of life) มนุษย์ไม่อาจไปละเมิดได้

ในปี ค..๑๙๖๘ สมเด็จพระสันตปาปาพอลที่ ๖ ได้ออกสาส์นพระสันตปาปา (papal encyclical) ชื่อ Humanae Vitae() ซึ่งเป็นสาส์นที่มีความสำคัญมาก แสดงจุดยืนทางปรัชญาอย่างชัดเจนว่า ห้ามทำแท้งอย่างเด็ดขาดและยังห้ามเรื่องการคุมกำเนิดทุกวิธี ยกเว้นการงดร่วมเพศบางเวลา (periodic abstinence) เนื่องจากคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกมีผู้นับถือมากที่สุดในโลก จุดยืนของทางสำนักวาติกันในเรื่องนี้จึงมีผลกระทบอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคู่สมรสที่ต้องการคุมกำเนิดหรือยุติการตั้งครรภ์ ศาสนาอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกันมีแนวคิดที่จะสนับสนุนการมีชีวิตของทารกแทบทั้งหมด อาจมีข้อแตกต่างปลีกย่อยอยู่บ้าง ในศาสนาพุทธถือว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาปละเมิดศีลข้อแรกของศีลห้า แนวความคิดเรื่อง Pro-life จึงมีความเข้มข้นมากในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่นับถือคริสตศาสนาโรมันคาทอลิกและในกลุ่มประเทศอาหรับและเอเชียที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ

กลุ่ม Pro-choice มีแนวคิดว่าผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายตัวเอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (basic human right) ดังนั้นผู้หญิงมีสิทธิที่จะกำหนดว่าจะให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อหรือสิ้นสุดลงก็ได้ การบังคับให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ต่อโดยฝืนความต้องการถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนวความคิดนี้เริ่มพัฒนามาพร้อม ๆ กับแนวคิดเรื่องสุขภาพมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม การขู่เข็ญบังคับ (coercion) การเลือกปฏิบัติ (double standard, prejudice) และการไม่ให้โอกาสเข้าถึงบริการทางแพทย์ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีผลกระทบทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งแนวความคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นแท้จริงมีอยู่ในแทบทุกศาสนาซึ่งมากน้อย แล้วแต่จะมีการตีความ แต่เห็นชัดเป็นรูปธรรมภายหลังการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสและคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขององค์การสหประชาชาติ พ.. ๒๔๙๑ ()

กลุ่ม Pro-choice เห็นว่าตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ไม่น่าจะมีสภาวะเป็นบุคคล เพราะยังไม่มีเงื่อนไขของความเป็นบุคคลอย่างครบถ้วน ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระนอกครรภ์มารดา ดังนั้น การทำแท้งจึงไม่ถือเป็นการฆาตกรรม ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ยังไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องหรือลบล้างสิทธิของหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ แต่ถึงแม้จะถือว่าตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์เป็นบุคคลสมบูรณ์ก็ยังไม่มีสิทธิเทียบเท่าสิทธิของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของร่างกาย

Judith Jarwis Thomson นักปรัชญาชาวอเมริกันได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจที่จะสนับสนุนว่าทารกในครรภ์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในครรภ์หากหญิงผู้ตั้งครรภ์ไม่ยินยอม Thomson เสนอเรื่องเปรียบเทียบสมมติว่า มีนักไวโอลินเอกของโลกคนหนึ่งกำลังป่วยขั้นโคมาด้วยโรคเลือดอย่างร้ายแรงวิธีเดียวที่รักษาได้คือหาผู้ที่มีหมู่เลือดที่เข้ากันได้ทุกประการมาเชื่อมต่อระบบการไหลเวียนเลือดเป็นเวลา๙เดือนหลังจากนั้นนักไวโอลินเอกผู้นี้ก็จะหายเป็นปกติทางสมาคมผู้รักดนตรีได้พิจารณาสืบค้นจากบันทึกทางการแพทย์พบว่าท่านเป็นผู้เดียวที่มีหมู่เลือดที่เข้าได้กับเลือดของนักไวโอลินเอกผู้นี้ทุกประการ

ดังนั้นในคืนหนึ่ง ขณะที่ท่านหลับสนิททางสมาคมผู้รักดนตรีได้บุกเข้ามาในบ้านท่าน และวางยาสลบท่านทำการเชื่อมต่อระบบไหลเวียนเลือดของท่านเข้ากับระบบไหลเวียนเลือดของนักไวโอลินเอก เมื่อท่านตื่นขึ้นมาพบความจริง ทางสมาคมผู้รักดนตรีขอร้องให้ท่านยอมผูกติดกับนักไวโอลินเอกผู้นี้นาน ๙ เดือน หลังจากนั้นท่านก็จะเป็นอิสระและนักไวโอลินเอกก็จะรอดชีวิตไปสร้างผลงานดนตรีต่อไป

Thomson ถามว่า ท่านจะยินดีที่จะเชื่อมติดกับนักไวโอลินผู้นี้นาน ๙ เดือนเพื่อให้เขารอดชีวิตหรือไม่ ถ้าท่านปฏิเสธและเขาต้องเสียชีวิตไปถือว่าท่านทำผิดจริยธรรมหรือไม่ และนักไวโอลินผู้นี้มีสิทธิที่จะมาใช้ร่างกายของท่านหรือไม่

Thomson กล่าวว่า ถ้าท่านตอบว่ายินดีที่จะยอมให้ใช้ร่างกายท่านนาน ๙ เดือน ท่านจะได้รับคำชื่นชมว่ามีจิตใจดีงามและกว้างขวาง แต่ถ้าท่านไม่ยินยอมก็ไม่ได้หมายความว่าท่านกระทำผิดจริยธรรม เพราะแท้จริงแล้วนักไวโอลินผู้นี้ไม่ได้มีสิทธิที่จะมาใช้ร่างกายของท่านตั้งแต่แรก ()

ในกรณีประเทศไทยซึ่งมีปัญหาการทำแท้งไม่ปลอดภัยอยู่ในปัจจุบัน สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเผชิญกับปัญหานี้เนื่องจากไม่ต้องการทำบาปเป็นการผลักดันให้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องไปรับบริการที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐาน เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต องค์การอนามัยโลกประเมินว่าร้อยละ ๑๓ ของการตายของมารดา (maternal deaths) เกิดจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย (unsafe abortion ) () ในเวชปฏิบัติของสูตินรีแพทย์เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือการตั้งครรภ์ไม่ปรารถนาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะวัยรุ่นตั้งครรภ์จำนวนมาก เด็กหญิงอายุน้อย ๆ เหล่านี้หลายคนต้องเสีย อนาคตหรือเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การที่สูตินรีแพทย์ยอมทำแท้งให้เด็กหญิงเหล่านี้ อย่างน้อยเป็นการช่วยรักษาอนาคตหรือช่วยชีวิตของเธอไว้ได้ แต่ก็เป็นการทำบาป ประเด็นนี้เป็นข้อขัดแย้งในใจของสูตินรีแพทย์ตลอดมา ผู้เขียนได้พูดคุยกับเพื่อนแพทย์ผู้หนึ่ง (นายแพทย์สมชาย หาญไชยพิบูลย์กุล อายุรแพทย์ โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา ) ซึ่งได้มีโอกาสได้สนทนาซักถามปัญหานี้กับ ปราชญ์ทางพุทธศาสนาของโลก คือ ท่านพระธรรมโกษาจารย์ หรือ ท่านพุทธทาสภิกขุ เห็นว่ามีความน่าสนใจสมควรจะเผยแพร่ จึงขอนำจดหมายมาเสนอในที่นี้

การทำแท้งบาปหรือไม่ ประเด็นเรื่องการทำแท้งบาปหรือไม่เป็นปัญหาจริยธรรมทางการแพทย์ที่มีการถกเถียงกันมานาน ในสมัยที่ผู้เขียนทำงานชดใช้ทุนอยู่โรงพยาบาลอำเภอของรัฐทางภาคใต้ ตอนจบใหม่ประมาณปี พ.. ๒๕๒๓ เวลานั้นท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ ผู้เขียนเคยเข้าไปที่สวนโมกข์ เพื่อสนทนาธรรมประเด็นเรื่องการทำแท้ง คิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจน่าจะเอามาบันทึกเป็นหลักฐานถ่ายทอดกันไว้

พื้นฐานเดิมโรงพยาบาลที่ผู้เขียนอยู่มีการทำแท้ง โดยท่านผู้อำนวยการเป็นผู้ทำ มีการเสียค่าใช้จ่ายโดยคิดเหมือนเป็นหัตถการอันหนึ่ง เงินทั้งหมดเข้าโรงพยาบาล แพทย์ผู้ทำไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ผู้เขียนสงสัยจึงถามท่านผู้อำนวยการถึงเหตุผล ท่านตอบว่า ผู้ที่มาให้เราทำแท้ง เป็นผู้ที่มีปัญหา มีความทุกข์ บางส่วนเป็นเด็กนักเรียน เมื่อตั้งท้องก็จะมีปัญหาเรื่องการเรียน บางคนต้อง ออกจากโรงเรียนเสียอนาคต ถ้าเราไม่ทำแท้งให้ เขาก็จะไปให้หมอเถื่อนทำให้ แล้วติดเชื้อสุดท้ายก็ต้องให้เราช่วยอยู่ดี หลายรายเราช่วยทันก็รอด บางรายช่วยไม่ทันก็ตาย แล้วทำไมเราไม่ช่วยเขาตั้งแต่แรก เพราะถ้าเราทำเองปลอดภัยกว่า เมื่อได้ความดังนั้น ผู้เขียนก็เห็นดีด้วยเพราะเพิ่งมีคนไข้เสียชีวิต เพราะโลหิตเป็นพิษจากการแท้งติดเชื้อ

หลังจากที่ทำแท้งไปสักพักหนึ่ง ผู้เขียนก็รู้สึกไม่สบายใจจึงไปสวนโมกข์ เพื่อเรียนถามท่านพุทธทาส ทันทีที่ผู้เขียนถามว่า การทำแท้งบาปหรือไม่ ท่านพุทธทาสย้อนถามผู้เขียนว่า ที่ทำนั้นถือเป็นการรับจ้างฆ่าคนหรือไม่ ผู้เขียนตอบว่าไม่ เพราะผู้เขียนไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เงินที่ได้รับเข้าโรงพยาบาลทั้งหมด ผู้เขียนอธิบายเหตุผลว่า ทำเพราะต้องการช่วยคนที่มีความทุกข์ ถ้าเราไม่ทำเขาก็จะไปให้หมอเถื่อนทำ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถ้าเราทำแท้งให้เขาตั้งแต่แรก เขาก็จะปลอดภัยกว่า

ท่านพุทธทาสตอบว่า ถ้าอย่างนั้นก็เป็นบุญ ถือเป็นการทำบุญเพราะเป็นการช่วยเขาให้พ้นทุกข์ เมื่อได้ยินดังนั้นผู้เขียนรู้สึกยินดี โล่งอก ที่การกระทำของตนเองไม่เป็นบาป แถมยังเป็นบุญ ท่านพุทธทาสยังพูดต่อไปอีกว่า มีคนมาถามปัญหาทำนองนี้หลายราย เช่น เพชฌฆาตที่ประหารชีวิตนักโทษบาปหรือไม่ ตำรวจทหารที่ฆ่าศัตรูที่มารุกรานประเทศชาติเราบาปหรือไม่ ท่านพุทธทาสบอกว่า การกระทำเหล่านี้ไม่ถือเป็นบาป เพราะคนทำต่างทำตามหน้าที่ มิได้มีเรื่องโกรธแค้นอะไรส่วนตัว ผู้เขียนเลยถามต่อว่า แสดงว่าการกระทำจะถือว่าบาปหรือไม่ อยู่ที่เจตนาใช่หรือไม่  ท่านพุทธทาสตอบว่า ใช่

ประเด็นที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ถ้าผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้ถาม และได้ยินคำตอบจากปากของท่านพุทธทาสเอง ผู้เขียนก็คงไม่เชื่อ การทำแท้งถือเป็นการทำบุญได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผู้เขียนเล่ามานี้ผู้เขียนยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และที่เล่านี้เพราะได้รับการร้องขอ จากเพื่อนแพทย์ที่เป็นสูติแพทย์ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะชักจูงให้แพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งหันมาทำแท้ง มิได้มีเจตนาที่จะให้แพทย์เป็นมือปืนรับจ้างฆ่าเด็ก และผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมให้มีฟรีเซ็กซ์ในหมู่เยาวชน เพียงแต่ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นการทำแท้งเป็นประเด็นจริยธรรมที่น่าสนใจ ยิ่งถ้าเป็นความเห็นจากท่านพุทธทาสแล้วน่าจะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และอาจช่วยให้แพทย์ที่ทำแท้ง เพื่อช่วยคนที่มีความทุกข์ได้พ้นทุกข์โดยที่ตัวเองไม่ทุกข์

เอกสารอ้างอิง

. The encyclical letter Humanae Vitae from Vatican website. http://www.vatican.va/holy_father/paul_vi/encyclicals/documents/hf_p-vi_enc_25071968_humanae-vitae_en.html
. United Nations Human Rights. http://www.ohchr.org/EN/UDHR/Pages/Introduction.aspx
. Thomson, J. “A Defense of Abortion”. Philosophy and Public Affairs 1:1 (Autumn 1971): 47-66.
. World Health Organization. Unsafe abortion: global and regional estimates of the incidence of unsafe abortion and associated mortality in 2003. Geneva. http://whqlibdoc.who.int/publications/2007/9789241596121_eng.pdf

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.7 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 13

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้