มาทำความเข้าใจกันก่อนนะ คือในโลกนี้มี 74 ประเทศที่การทำแท้งเป็นบริการสุขภาพ เหมือนการรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป จึงไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ มารองรับ ส่วนใหญ่คือประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าสนใจคือ จีน มองโกเลีย เนปาล เวียดนาม และกัมพูชา ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ส่วนไทยไม่ใช่หนึ่งในนั้นแน่นอน
เดิมบ้านเราก็ไม่มีกฎหมายทำแท้งนะ ผู้หญิงไทยแต่โบราณทำแท้งได้โดยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ ประมาณว่า การตัดสินใจว่าจะท้องต่อหรือไม่ท้องต่อนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่พอประเทศเรามาเริ่มพัฒนากฎหมายเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน ก็เลยเขียนกฎหมายนี้ตามประเทศเยอรมัน ให้การทำแท้งผิดกฎหมายอาญาทุกกรณี จนมาถึงปี พ.ศ. 2500 มีการปรับอีกครั้ง ผ่อนผันให้ผู้หญิงทำแท้งได้ในกรณีมีปัญหาสุขภาพ ถูกข่มขืนล่วงละเมิด และในเด็กหญิงอายุน้อยกว่า 15 ปี
ทุกวันนี้เยอรมัน หนึ่งใน 74 ประเทศข้างต้นได้ยกเลิกกฎหมายนี้ และให้เป็นสิทธิของผู้หญิงเหมือนประเทศไทยในสมัยโบราณแล้ว แต่…ไทยยังใช้กฎหมายของปี 2500 อยู่จนทุกวันนี้ ย่างเข้าปีที่ 62 สภาพครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคมก็เปลี่ยนไปเยอะมาก กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่มีคำขวัญว่า มุ่งมั่น สร้างสรรค์ กฎหมายไทยให้มีคุณภาพ) ก็ได้หยิบยกเอากฎหมายทำแท้งมาปรับแก้อีกครั้งในปี 2560 แต่ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด
กฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อยุคคุณยายเรายังเป็นเด็ก นำมาใช้กับยุค 4.0 ก็ไม่พ้นต้องมีปัญหาในทางปฏิบัติแน่นอน เรามีเรื่องจริงเล่าให้ฟัง …