ทำไมต้องมี RSA?
เพราะว่า.. ยังมีผู้หญิงที่จำเป็นต้องได้รับบริการที่เข้าข่ายการทำแท้งตามกฎหมาย แต่เข้าถึงหน่วยบริการได้ยากและราคาแพง จึงต้องเข้าไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ทำให้บาดเจ็บ มีภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิต การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมส่งผลต่อการเกิดที่ไม่มีคุณภาพ น้ำหนักแรกคลอดต่ำ ถูกทอดทิ้ง กำพร้า ขาดสารอาหาร ขาดการดูแลเอาใจใส่ เติบโตโดยไม่มีครอบครัวดูแล สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยในอนาคต
RSA คือใคร?
คือ..เครือข่าย แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข เภสัชกร ครูและสหวิชาชีพอื่นๆ จากภาครัฐและเอกชน รวมตัวกันอาสาให้การปรึกษา ส่งต่อ หรือให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ด้วยการใช้ยา หรือใช้เครื่องดูดโพรงมดลูก ด้วยข้อบ่งชี้ที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา ให้กับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่มีปัญหาสุขภาพกายและใจ
ข้อบ่งชี้ของการยุติการตั้งครรภ์ที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภามีอะไรบ้าง?
การตั้งครรภ์นั้นๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของผู้หญิง ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการ การตั้งครรภ์เกิดจากความผิดทางเพศ ได้แก่ การข่มขืน การล่อลวงบังคับ ข่มขู่ และ ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 15 ปี
เครือข่ายอาสา RSA ได้รับการสนับสนุนจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย และ กรมกองอื่นๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการหนุนเสริมการทำงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งภาคีเครือข่ายจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงเรียนแพทย์อื่นๆ สายด่วนช่วยเหลือสังคม 1300 สายด่วนสุขภาพจิต 1323 รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเครือข่ายอาสา RSA มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม
R-SA ทำงานอย่างไร?
1. รับการส่งต่อ เพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Safe Abortion)
2. บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ด้วยวิธีการใช้ยาและวิธีการทางศัลยกรรม โดยผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมได้รับบริการปรึกษาที่รอบด้านและมีทางเลือก ภายใต้ข้อบ่งชี้ทางสุขภาพกายและใจที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา
3. พัฒนาระบบบริการ และระบบส่งต่อ ที่มีมาตรฐานตามหลักวิชาการตอบสนองมาตรการลดปัญหาสาธารณสุข ลดอัตราการตายของแม่ (MMR) และเด็ก (NMR) ของประเทศไทย
4. สนับสนุน ส่งเสริม ร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานต่างๆ เพื่อลดปัญหาการแท้งเถื่อนและไม่ปลอดภัย รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานกับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
ที่มา : โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
ผลิตเมื่อ มีนาคม 2562
รายละเอียดเพิ่มเติม : การยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาในระบบบริการสุขภาพ
http://rh.anamai.moph.go.th/main.php?filename=safe_abortionhttp://rh.anamai.moph.go.th/main.php?filename=safe_abortion