สภาพยาบาลระหว่างประเทศกำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล เพื่อส่งเสริมความร่วมแรงร่วมใจของพยาบาลวิชาชีพทั่วโลกในการจัดกิจกรรม รำลึกถึงคุณความดีของ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล โดยร่วมกันรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ในปี พ.ศ. 2562 นี้ สภาพยาบาลระหว่างประเทศ กำหนดหัวข้อสำหรับวันพยาบาล สากล ว่า “Nurses – A Voice to Lead Health For All” แปลเป็นไทยว่า “พยาบาล : เสียงแห่งพลัง สู่สุขภาพดีถ้วนหน้า ” ในวันนี้ RSATHAI จึงอยากชวนดูวีรกรรมที่ถูกกล่าวถึงของ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พร้อมกับตะเกียงไนติงเกิล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาของวิชาชีพพยาบาลที่ถือกำเนิดพร้อมๆ กับเรื่องราวของ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
‘ตะเกียงไนติงเกิล’ สัญลักษณ์และพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ของเหล่านักศึกษาและผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล เป็นสัญลักษณ์ที่นักศึกษาพยาบาลรุ่นน้องจะได้รับ เพื่อสืบทอดเจตนารมย์การเป็นพยาบาลที่ดีในอนาคต และเพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ ความอดทน ความเอื้ออารีต่อผู้ป่วย เมื่อเข้าสู่วิชาชีพทางการพยาบาล ตะเกียงดังกล่าวจะถูกส่งมอบให้จากรุ่นสู่รุ่น โดยจะมีการมอบตะเกียงให้กับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 ในพิธีรับมอบหมวก พร้อมกันนี้ในระหว่างส่งมอบตะเกียง ผู้รับจะท่องคำปฎิญาณตนเพื่อเป็นพยาบาลที่ดีของ ฟลอเรนซ์ไนติงเกล
วีรกรรมที่ถูกยกย่องเล่าขานสืบต่อของ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ซึ่งได้อุทิศตนให้กับการดูแลเหล่าทหารและผู้เจ็บป่วยจากภัยของสงครามไครเมีย ซึ่งค่ายทหารเซลิมิเยอ (Selimiye Barracks) ในสคูตารี (Scutari) ที่เธอและคณะนางพยาบาลอาสาสมัครจำนวน 38 คน เดินทางไปช่วยเหลือดูแลนั้นแออัดไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่กลับขาดแคลนทั้งแพทย์ เครื่องไม้เครื่องมือและยารักษา
ท่ามกลางความหวังมืดหม่นที่จะเหลือรอดชีวิต แต่ผู้ป่วยกลับรู้สึกมีความหวังขึ้นทุกครั้งเมื่อได้เห็นแสงสว่างจากตะเกียงที่มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มักจะจุดเพื่อใช้เดินดูผู้ป่วยในยามค่ำคืน ภาพจำนี้นี่เองที่ทำให้เธอถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่า Lady of the Lamp
เมื่อจบสิ้นสงครามในปี 1857 ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล กลับสู่สหราชอาณาจักรในฐานะวีรสตรี เธอได้เข้าเฝ้าและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระนางเจ้าวิกตอเรีย และยังคงทำงานที่เธออุทิศชีวิตให้จนกระทั่งเธอจากโลกนี้ไปในวันที่ 12 สิงหาคม 1910
พิธีศพของเธอถูกจัดขึ้นเรียบง่ายตามความตั้งใจสุดท้าย ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลไม่ได้เพียงช่วยชีวิตเหล่าทหารในสคูตารี แต่ยังช่วยอีกนับล้านๆ ชีวิตหลังจากนั้นในฐานะผู้สร้างพยาบาลศาสตร์สมัยใหม่
“เมื่อฉันไม่ได้มีชีวิต เหลือแต่เพียงชื่อ ฉันหวังว่าผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ฉันได้ทำจะคงอยู่ตลอดไป ขอพระเจ้าอวยพรเพื่อนรักทหารหาญแห่ง Balaclava และพาพวกเขาให้รอดปลอดภัย”
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
- www.bbc.co.uk/schools/primaryhistory/famouspeople/florence_nightingale/
- med.mahidol.ac.th/ram/th/content/%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5
- www.sru.ac.th/news-and-announcement/news-events/344-ceremony-give-needle-cap-plenty-miss-florence-nightingale-nursing.html
- thegoodheart.blogspot.com/2010/08/blessed-florence-nightingale-1820-1910.html
- historythings.com/historys-badasses-florence-nightingale/
- https://thestandard.co/kaokonlakao-historys-badasses-florence-nightingale/
- http://www.thainurse.org