ขณะมีประจำเดือนอาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเนื่องจาก มีเลือดคั่ง หรือมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูกในระหว่างมีประจำเดือนเพราะกล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวเพื่อขับเลือดออก
อาการปวดประจำเดือน หรือปวดท้องเมนส์โดยทั่วไป เกิดขึ้นเนื่องจากผนังมดลูกมีการสร้างสารชนิดหนึ่ง คือ โพรสตาแแกลนดิน หลั่งออกมามากทำให้มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก หดรัดตัวแรงขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเสือดในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายหดรัดตัวด้วย จึงทำให้ขณะมีประจำเดือนผู้หญิง บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเดิน ซึ่งอาการเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
อาการปวดประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ บางคนจะเริ่มปวดตื้อ ๆ ก่อนที่จะมีประจำเดือน 1 สัปดาห์ หลังจากมีประจำเดือนแล้วอาการปวดจะค่อย ๆ ลดลง
เราสามารถลดอาการปวดนี้ได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวด ประคบด้วยการวางถุงน้ำอุ่นบริเวณหน้าท้อง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย และอาจออกกายบริหาร หรือเล่นกีฬาเบา ๆ ที่สำคัญเราสามารถป้องกันการปวดประจำเดือนโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้อีกด้วย
ในวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือนมา ๆ หยุด ๆ บางคนมา 1 เดือน หายไป 3 เดือน บางคนมีประจำเดือนนิดเดียว บางคนมาเร็วกว่ากำหนดทุกเดือน แต่บางคนก็มาช้ากว่ากำหนดทุกเดือน ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นปกติใน 2-3 ปีแรก ของการมีประจำเดือนเพราะการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดประจำเดือนนั้นยังไม่สม่ำเสมอ อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 2-3 ปี
นอกจากนั้น อารมณ์เครียด วิตกกังวล ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดหายไปได้ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ก็อาจทำให้ท้องและประจำเดือนขาดหายเช่นเดียวกัน ควรทำการตรวจตั้งครรภ์ หากประจำเดือนขาดหายไปนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือ หลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป
แหล่งสืบค้นข้อมูล : สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข