26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก (International Day against Drug Abuse and Illicit Trafficking )
ปัญหายาเสพติด ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก เพื่อเน้นถึงความสำคัญของการต่อสู้กับปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบค้ายาเสพติด และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลก ในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด ในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking ICDAIT) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17-26 มิถุนายน 2530 ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก”
ในประเทศไทย สำนักงาน ป.ป.ส. “คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ” ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศมาโดยตลอด ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา
โดยในปี 2562 นี้ มีคําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด : “มุ่งมั่น แก้ไข ขจัดภัยยาเสพติด” COMIMITTED TO SOLVE NARCOTICS PROBLEM WITH STRONG DETERMINATION เพื่อให้ประชาชนรับรู้ตระหนักในความสำคัญของวันต่อต้านยาเสพติดโลก เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
เมื่อขึ้นชื่อว่าสารเสพติดแล้ว… แน่นอนว่า ย่อมก่อผลเสียต่อร่างกายทั้งต่อผู้เสพและผู้คนรอบข้างดังเห็นได้จากเหตุการณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อต่าง ๆ ทั่วไปในปัจจุบัน วันนี้เราจะกล่าวถึงกรณีของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และมีการใช้สารเสพติด ซึ่งส่งผลที่อันตรายอย่างมากต่อทารกในครรภ์
เร็วๆ นี้ เราคงได้ยินข่าว เรื่องการใช้ยาเสพติด (ยาบ้า) แล้วจะทำให้คลอดบุตรง่ายในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและไม่เป็นความจริงเลย เนื่องจากการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารเสพติด กลุ่มสารกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี หรือ อนุพันธ์แอมเฟตามีนใดๆ ไม่ได้มีส่วนช่วยใดๆ ทั้งสิ้นในกระบวนการคลอด
ในทางตรงกันข้าม การใช้ยาเสพติด ในกลุ่มแอฟตามีนหรือยาบ้า ในขณะตั้งครรภ์นั้น จะก่อให้เกิดอันตรายซึ่งนำไปสู่ การแท้งบุตร การเสียชีวิตในครรภ์ของทารก หรือระหว่างคลอด ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดของทารกต่ำกว่าเกณฑ์ และก่อให้เกิดความผิดปกติของหัวใจในทารก ภาวะเลือดออกในสมอง สมองตาย เซลประสาทถูกทำลาย
เด็กที่คลอดจากผู้หญิงที่ใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ จะมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ ร้องไห้ไม่หยุด กระวนกระวาย ไม่ดื่มนมตามปกติ เมื่อเติบโตขึ้น มีผลต่อความผิดปกติของสมาธิ ความจำและความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมต่างๆ ส่วนผู้หญิงที่ใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์นั้น มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ขณะตั้งครรภ์มากกว่าคนทั่วไป และหลังคลอดบุตรยังเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดรุนแรง อาจถึงแก่ชีวิต
สิ่งเสพติดยอดฮิต 3 อันดับตัน ๆ ที่พบอัตราการเสพมากที่สุดในประเทศไทย
1.บุหรี่ สารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันบุหรี่ และทาร์จะมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทอะเชติลโคลีน (acetylcholine) โดปามีน (dopamine) และนอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine) ส่งผลให้มีการขัดขวางการพัฒนาของเซลล์ประสาทของทารก มีการหดตัวของหลอดเลือดดำในมดลูก ทำให้เลือดผ่านรกลดลง ทารกจึงได้รับอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ มีผลให้น้ำหนักแรกเกิดน้อย ขาดสารอาหารในระยะตั้งครรภ์และเพิ่มอัตราการตายในวัยทารก
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม เช่น เชาวน์ปัญญาบกพร่อง มีปัญหาการเรียน ซุกซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ตลอดจนมีปัญหาด้านการเข้าสังคม ผลดังกล่าวจะพบได้ตั้งแต่ในระยะแรกของการตั้งครรภ์จนกระทั่งทารกเกิด
มีผู้ศึกษา พบว่า หากมารดาสูบบุหรี่ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนคลอด แม้จะเป็นการสูบบุหรี่เพียงครั้งเดียวก็จะส่งผลให้มีการยับยั้งการสร้าง DNA ของทารกได้นานหลายชั่วโมง นอกจากผลกระทบต่อครรภ์แล้ว ในส่วนของผลกระทบต่อผู้หญิง คือทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหลอดเลือดอุดตัน” เพิ่มขึ้น โดยอาจก่อให้เกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำชั้นลึก (deep vein thrombosis) หรือเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยที่สุด คือ “หลอดลมอักเสบ” (ซึ่งพบได้มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 15 เท่า ปอดอักเสบ ไช้หวัดใหญ่ ภาวะหอบหืด 3 เท่า ส่วนผลต่อการตั้งครรภ์พบว่า เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์นอกมดลูก 5 เท่า)
2. แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ) ผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อตัวอ่อนในครรภ์ พบเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปฏิสนธิหรือ ในช่วง 3 เดือนแรก ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม หากดื่มในปริมาณมากจะส่งผลให้ทารกเมื่อคลอดมีลักษณะของโรคกลุ่มอาการของทารกที่เกิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome, FAS) ซึ่งมีลักษณะทางร่างกายที่ผิดปกติ คือ ช่องตาสั้น ,ร่องริมฝีปากบน (Phil rum) เรียบ ,ริมฝีปากบนยาวและบาง ,หนังคลุมหัวตามาก (epicanthal folds) , จมูกแบน ,ปลายจมูกเชิดขึ้น ,บริเวณส่วนกลางใบหน้ามีการพัฒนาน้อยกว่าปกติ (midface hypoplasia)
แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ประสาท ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตบกพร่อง น้ำหนักแรกเกิดน้อยและมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักหลังเกิดน้อย ศีรษะเล็ก เกิดความผิดปกติของ โครงสร้างสมอง เช่น ไม่มีสมองใหญ่ (anencephaly) สมองใหญ่มีร่องผิดปกติ (schizencephaly) , เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองเลื่อน (lumbarmeningomyelocele) ส่วนด้านพัฒนาการของสติปัญญาก็มีความบกพร่อง มีปัญหาด้านความจำ การเคลื่อนไหวผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะวิตกกังวล (anxiely disorder) , มีภาวะซึมเศร้า (depression) ,พฤติกรรมอันตพาล (conduct disorde) และมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น อาการซุกชนไม่อยู่นิ่ง และสมาธิสั้น
3. แอมเฟตามีนและอนุพันธ์ ได้แก่ เมตแอมเฟตามีน (ยาไอซ์ สปีด) และ 3,4-เมทิลีนไดออกซีเมตแอมเฟตามีน (ยาอี Ectasy) จะส่งผลให้มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะสมองตายทำให้มีการทำลายเซลล์ประสาท เส้นรอบศีรษะมีขนาดเล็กซึ่งมีผลต่อสมาธิความจำ และมิติสัมพันธ์ (spatial skill) และมีผลทำให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วย
หากตรวจและทราบว่าแล้วมีการตั้งครรภ์ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดทุกชนิดเพราะผลกระทบที่ตามมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากมีประวัติเคยใช้ยามาก่อนตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวังครรภ์เป็นพิเศษ และเมื่อคลอดแล้วก็ไม่ควรละเลย ควรพาทารกไปพบกุมารแพทย์เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรอง ประเมินพัฒนาการและพฤติกรรมเป็นระยะ แต่จะดีที่สุดหากเราเลี่ยงสิ่งเสพติดทุกอย่างได้… ^ ^
แหล่งสืบค้นข้อมูล :
- ผลกระทบของการเสพสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ : อ.พญ.สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล www.si.mahidol.ac.th
- แพทย์เตือนกระแส “เสพยาบ้าพาคลอดง่าย” ถึงตายทั้งแม่และเด็ก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข https://ddc.moph.go.th/