สมัยเด็กๆ ก็ไม่ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งมาแต่อย่างใด ถ้านึกย้อนไปในความรู้สึก เหมือนจะเป็นการทำบาปที่ทำลายชีวิตเด็กที่กำลังจะเกิดมา แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมายที่จะต้องต่อต้าน หรือสนับสนุน
เมื่อโตขึ้นมาได้มีการได้เรียนเป็นหมอ เรียนในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งที่ไม่มีการยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิงที่ไม่พร้อม ขณะเรียนก็มีโอกาสได้เจอคนไข้กลุ่มนี้เรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นหมอก็คงต้องทำตัวเป็นกลางให้คำแนะนำทางเลือก ได้แก่ ตั้งครรภ์ต่อ หรือ ยุติการตั้งครรภ์
การแนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อ ก็คงพูดได้แต่หลักการเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีที่ไหนที่จะดูแลหญิงตั้งครรภ์คนนั้นไปตลอดชีวิต ปัญหาของเขาคือ ความไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นทางครอบครัว ทางด้านการเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย ถามจริงๆ มีองค์กรไหนที่ดูแลเขาไปตลอดชีวิตมั้ย? ถ้ามีช่วยแนะนำด้วย จะได้ส่งคนไข้ไป
การแนะนำทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ขณะเรียนก็รู้ว่ามีโรงพยาบาลที่เราควรส่งไป เอาเข้าจริงๆ ก็เหมือนแค่พูดชื่อโรงพยาบาล ขั้นตอนเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะอาจารย์ไม่ได้สอน อาจารย์ไม่ได้แนะนำรายละเอียด อาจารย์บางท่านไม่มีแนวทางเลือกให้ด้วยซ้ำ โรงพยาบาลที่เรียน แพทย์สภา หรือกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้มาเน้นในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรในด้านการบริหารจัดการ
เมื่อเรียนจบมามีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญคือ รู้สึกเข้าใจหญิงที่ท้องไม่พร้อม พวกคุณที่ต่อต้านการยุติการตั้งครรภ์ เข้าใจผู้หญิงเหล่านี้แค่ไหน ถึงยังต่อต้านการยุติการตั้งครรภ์?
ถึงตอนนี้ เราพร้อมที่จะดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว เคยคิดว่า แค่มีระบบก็จบแล้ว เพราะเราเป็นคนทำ แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลยในโลกความเป็นจริงนั้นยากเหลือเกิน ไม่ใช่ยากที่ระบบ แต่ยากที่ “คนรอบตัว”
ระบบการยุติการตั้งครรภ์กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์สภา มีไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถเบิกกับสปสช.ได้ 100% ดังนั้นการยุติการตั้งครรภ์ไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก
“คนรอบตัว” คือใคร? ไล่ตามลำดับมา ได้แก่ เจ้าหน้าที่ห้องทะเบียนทำบัตรผู้ป่วย เจ้าหน้าที่หน้าห้องตรวจ เจ้าหน้าที่ห้องยา ผู้ช่วยพยาบาลเตรียมคนไข้ก่อนทำการยุติการตั้งครรภ์ พยาบาลผู้ทำการฉีดยาเพื่อให้หมอทำการยุติการตั้งครรภ์ด้วยการดูด รวมถึงวิสัญญีแพทย์ และพยาบาล บุคคลเหล่านี้ ถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่กลับสร้างความยากลำบากให้กับแพทย์ผู้ที่จะทำการยุติการตั้งครรภ์ให้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมากที่สุด ด้วยความคิดที่ว่า การยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นบาป ไม่อยากมีส่วนร่วมใดๆ ไม่อยากแม้แต่จะยืนใกล้ๆ เพื่อทำหน้าที่ของตนเอง
สถาบันต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแพทย์ สถาบันฝึกอบรมพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ควรสอนให้รู้จักคำว่ายุติการตั้งครรภ์โดยมีข้อบ่งชี้ ไม่ใช่เป็นการทำบาป ทำให้ดูเหมือนว่า แม้จะเรียนจบมามีความรู้ มีใบประกาศ แต่กลับไม่มีวุฒิภาวะทางความคิดในเรื่องนี้
การยุติการตั้งครรภ์ในมุมมองของคนที่เป็นหมออย่างผมนะครับ คือ การให้การรักษาคนไข้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่การทำบาป การให้การรักษา หรือการให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มันจะเป็นบาปไปได้อย่างไร
คนส่วนใหญ่ชอบคิดแค่ว่า เป็นการทำลายชีวิตเด็ก เด็กอาจจะเติบโดเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติในอนาคตได้ แต่คุณเคยคิดถึงผู้หญิงที่ต้องตั้งท้องต่อโดยไม่พร้อม ต้องเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมา ต้องเหนื่อย เครียด และทนกับสภาวะความไม่พร้อมมั้ย คุณไม่ได้ไปให้การช่วยเหลือใดๆ คุณได้แต่พูด
การรักษา ไม่มีการมองถึงอนาคต ควรมองแค่ปัจจุบัน ว่าคนที่เรากำลังจะรักษา มีข้อบ่งชี้ในการรักษาหรือไม่ ขอแค่มีก็พอ เปรียบดังโจรผู้ร้าย บาดเจ็บมาที่โรงพยาบาล เราก็ต้องทำการรักษา ไม่ใช่เพียงแค่เขาเป็นโจรผู้ร้าย เราจะเลือกไม่รักษาก็ได้
บางคนก็อ้างประเด็น ไม่ควรช่วย ไม่ยอมคุมกำเนิดเอง แต่ไม่เคยคิดเลย ว่าที่เขาไม่คุมกำเนิด เป็นเพราะเขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ สมมติว่าเขาเข้าใจแล้ว แต่ท้องขึ้นมา มันก็คือความผิดพลาดหนึ่งในชีวิต เราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ควรให้การช่วยเหลือตามความสามารถมั้ย ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย?
เมื่อเจอคนที่ท้องไม่พร้อม เรามักจะถามว่า ทำไมไม่คุมกำเนิด เรามักจะโทษตัวบุคคล แต่เราไม่เคยคิดเลยว่า มีใครสอน แนะนำ หรือให้ความรู้แก่คนเหล่านั้นหรือไม่ สถาบันครอบครัว สถาบันโรงเรียนการศึกษา กระทรวงการศึกษา ได้สนับสนุนและเน้นย้ำเรื่องการคุมกำเนิดหรือไม่ อาจจะต้องกลับไปถามตรงนี้นะครับ
สุดท้ายนี้ อยากจะฝากถึงคนทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะคนที่ทำงานในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทำหน้าที่เป็นอะไรก็ตาม เรียนจบอะไรมาก็ตาม อยากให้คุณเข้าใจว่า การยุติการตั้งครรภ์ให้หญิงที่ไม่พร้อม เป็นการรักษาของแพทย์ที่ ”ต้องทำ” ไม่ใช่ทางเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ไม่ใช่คิดว่าเป็นบาปแล้วก็จะไม่ขอมีส่วนร่วม
เรื่องโดย หมอกษมพล