นี่คือ… “ไอเท็มที่ต้องมีติดกระเป๋า… ในทุกวัน!!” พกไว้อุ่นใจเสมอ เคยสงสัยไหม… ว่าถุงยางขนาดเท่าไหร่ที่เหมาะกับเรา…

การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย นอกจากจะเสี่ยงต่อการท้องไม่พร้อมแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส เอชไอวี หนองใน มะเร็งปากมดลูก เสี่ยงได้รับเชื้อ Human Papillomavirus (HPV) เป็นต้น

ข้อมูลจากรายงาน 506 ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2562 พบรายงาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2562 พบอัตราป่วยจาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงมีแนวโน้มสูงอยู่ โดยต่ำสุดในปี พ.ศ. 2557 อัตราป่วย 103.37 ต่อแสน ประชากร ปี 2558 เพิ่มเป็น 127.08 ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2559 เพิ่มเป็น 143.44 ต่อแสนประชากร ปี 2560 เพิ่มเป็น 161.18 ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเป็น 169.12 ต่อแสนประชากร และในปี พ.ศ. 2562 มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 212.66 ต่อแสนประชากร

จากการสำรวจเมื่อปี 2562 ปัญหาการใช้งานถุงยางอนามัย คือ การเลือกขนาดถุงยางอนามัยผิดขนาดขณะทำกิจกรรมทางเพศ ส่งผลให้เกิดการหลวมหลุด (ราวร้อยละ 6.78) เพราะมีขนาดใหญ่กว่าอวัยวะเพศมาก และ เกิดการแตกรั่ว (ราวร้อยละ 10.17) เพราะมีขนาดคับเกินไปไม่เหลือพื้นที่บริเวณปลายสุดเมื่อหลั่งอสุจิออกมา

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2535 เรื่องคุณภาพของถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติมีอยู่ 13 ขนาด คือตั้งแต่ 44-56 มิลลิเมตร โดยวัดจากความกว้างของถุงยางที่คลี่แบนราบกับพื้น แต่โดยทั่วไปจะมีจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้จำหน่ายขนาด 49 , 51, 52 ,53, 54 และ 56 มิลลิเมตร

การวัดขนาดให้เหมาะสมกับถุงยางอนามัย ให้วัดความยาวเส้นรอบวงของอวัยวะเพศขณะแข็งตัวเต็มที่เป็นหน่วยมิลลิเมตร และนำไปหารด้วย 2 จะได้เป็นขนาดของถุงยางอนามัยที่เหมาะสม เช่น หากวัดเส้นรอบวงได้ 105 มิลลิเมตร ก็จะได้ 105 มม./2 = 52.5 มิลลิเมตร คือขนาดถุงยางของเรา

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ถุงยางอนามัย

  • ก่อนใช้ อย่าลืมควรตรวจดูวันหมดอายุของถุงยางอนามัยอยู่เสมอ สังเกต เดือน ปี ที่หมดอายุของถุงยางอนามัยที่พิมพ์ไว้บนกล่องหรือซองบรรจุ หากเป็น เดือน ปี ที่ผลิต ให้คิดอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี
  • บีบไล่อากาศที่ปลายถุงยางก่อนใส่ทุกครั้ง ก่อนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งควรบีบไล่อากาศออกก่อน เพราะอากาศที่อยู่บริเวณปลายถุงยางอาจจะทำให้ถุงยางอนามัยแตกหรือฉีกขาดได้ง่าย
  • สวมถุงยางอนามัยให้ถูกด้าน เมื่อฉีกถุงยางอนามัยออกมาจากซองแล้ว ให้หันด้านที่มีกระเปาะตรงส่วนหัวออกด้านนอก และสวมลงบนอวัยวะเพศที่แข็งตัวอยู่ ถ้าสวมถูกด้านจะสามารถรูดถุงยางอนามัยลงได้ง่าย
  • เมื่อสวมถุงยางอนามัย ต้องคลุมองคชาตทั้งลํา และสวมตั้งแต่ก่อนร่วมเพศไปจนสิ้นสุดกระบวนการ แล้วค่อย ๆ ถอดออกอย่างระมัดระวัง อย่าให้รั่ว หรือแตก
  • เปลี่ยนถุงยางอนามัยใหม่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลังจากหลั่งแล้ว ต้องถอดออกด้วยความระมัดระวังทันที ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
  • สามารถใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำ (Water-Based Lubricants) มีน้ำหรือซิลิโคน เป็นตัวละลาย เช่น กลีเซอรีน เค-วายเจลลี่ เพื่อช่วยไม่ให้ถุงยางอนามัยแตกได้ แต่ห้ามใช้น้ำมัน หรือวาสลีน เพราะถุงยางอนามัยจะอ่อนตัวลงและแตกง่ายขึ้น น้ำมันจะไปทำปฏิกิริยากับยาง และทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพและแตกขาดได้
  • อย่าใส่ถุงยางอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยแตกง่ายขึ้น
  • เก็บรักษาถุงยางอนามัยใหม่ในที่เย็นและแห้ง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ เพราะอาจเจอความร้อนและการเสียดสี ทำให้ถุงยางเสื่อมสภาพเร็วหรือฉีกขาดได้ ต้องจัดเก็บในที่เหมาะสม ไม่อยู่ในที่ร้อนจัดหรือแสงแดดส่องถึง
ลิงก์สำหรับดาวน์โหลด : http://talkaboutsex.thaihealth.or.th/sites/default/files/condomsize.jpg

ข้อมูลจาก:

  1. ระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มนักเรียนและรายงาน506 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  3. http://talkaboutsex.thaihealth.or.th/sites/default/files/condomsize.jpg

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.2 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 44

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้