ไม่ใช่แค่สาวน้อยวัยใส คุณแม่บ้านก็มีปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’ ให้หนักใจเช่นกัน
“เมนไม่มา 2-3 เดือนก็นึกว่า เออ คงเริ่มจะหมดแล้วมั้ง พอเข้าเดือนที่ 4 รู้สึกเวียนหัวแปลกๆ เลยชักไม่แน่ใจ ไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าท้อง ร้องไห้โฮเลย หมอพยาบาลตกใจกันหมด จะมีลูกตอนนี้ได้ยังไง ขอทำแท้งหมอก็ไม่ยอม กลับมาถามคนรู้จัก บอกว่ามีคลินิกรับทำ เสี่ยงก็ยอม แต่ติดตรงที่ต้องใช้เงินเยอะ เราไม่มีเงิน”
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน คนที่เล่าคือ ‘กุ้ง’ หญิงวัยเกิน 40 จากสุพรรณบุรี ตัวเธอเองทำงานรับจ้างทั่วไป ส่วนสามีออกไปรับจ้างซ่อมบ้านทาสีตามต่างจังหวัด หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะกลับบ้านสักครั้ง ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 3 คน ลูกสาวเมื่อเรียนจบ ม.6 ไม่มีเงินเรียนต่อ จึงเข้ากรุงเทพฯ ไปทำงานร้านอาหาร ลูกชายคนรองเรียน ปวช.ได้ไม่กี่ปี ก็หนีหายไปพร้อมกับแฟนสาว ส่วนลูกคนเล็กเรียนได้ถึง ม.2 เกิดตั้งท้อง เมื่อคลอดแล้วจึงยกภาระการดูแลหลานให้ยาย ตัวเองตามพี่สาวเข้ากรุงไปหางานทำ
ปัจจุบัน กุ้งเลี้ยงดูเด็กชาย 2 คน คือลูกของลูกสาวคนเล็กกับ ‘ลูกหลง’ ซึ่งที่สุดแล้วเธอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้กำเนิดและเลี้ยงดูเขาให้เติบโตไปตามอัตภาพ เพื่อความสะดวก เธอจึงให้เด็กทั้งสองเรียกว่า “แม่” เหมือนๆ กันไป
ผ่านไปหลายปี การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจของคนมีครอบครัวแล้วแต่ขาดความพร้อมที่จะดูแลสมาชิกใหม่ เป็นปัญหาที่ไม่เคยเก่า
“กลุ่มอายุเกิน 36 ปีที่มารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาล สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเรื่องเศรษฐกิจการเงิน มีบุตรเพียงพอแล้ว ครอบครัวขาดแคลนไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กเพิ่มอีกได้”
นพ.เศวตชัย พึ่งบัว นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานบริการการแพทย์ โรงพยาบาลบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ รวบรวมสถิติปีล่าสุดของผู้มาใช้บริการยุติการตั้งครรภ์กับทางโรงพยาบาลบ้านโคก พบว่ากลุ่มใหญ่ที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ได้แก่ช่วงอายุ 20 – 35 ปี มีทั้งผู้ที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน รองลงมา หรือคิดเป็นร้อยละ 28 คือกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี และอีกร้อยละ 16 คือกลุ่มอายุเกิน 36 ปี ซึ่งส่วนมากมีครอบครัวแล้ว
“สัดส่วนแม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น แต่ก็ถือว่าไม่น้อยนะครับ” คุณหมอเจ้าของข้อมูลให้ความเห็นต่อการตั้งครรภ์ของกลุ่มผู้หญิงวัยเกิน 36 ปีที่ขาดความพร้อมจะเลี้ยงดูบุตร และยื่นความประสงค์ขอยุติการตั้งครรภ์กับทางโรงพยาบาล
ตัวอย่างสถิติจากโรงพยาบาลบ้านโคก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง สะท้อนภาพใหญ่ของสถานการณ์ระดับประเทศได้เป็นอย่างดี จากรายงานเฝ้าระวังการแท้งประเทศไทย พ.ศ. 2560 จัดทำโดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สัดส่วนของกลุ่มที่ทำแท้งสูงสุด คือช่วงวัย 20 – 35 ปี คิดเป็นร้อยละ 52.3 รองลงมาได้แก่อายุต่ำกว่า 20 ปี ตัวเลขเท่ากันกับโรงพยาบาลบ้านโคกที่ร้อยละ 28 และกลุ่มวัย 36 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 19.1
ไม่พร้อม ทำไมไม่คุม?
คำถามแรกเมื่อได้ยินคำว่า “ท้องไม่พร้อม” ไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วงวัยใด ความคิดแรกของคนส่วนใหญ่คือ ในเมื่อไม่พร้อม แล้ว “ทำไมไม่คุม” ทำไมจึงปล่อยให้ท้อง
ถ้าพักกลุ่มวัยอื่นไว้ก่อน ปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจของผู้หญิงมีครอบครัวแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะและประสบการณ์ ก็นับว่าน่าค้นหาคำตอบอยู่ไม่น้อย
ลองย้อนกลับไปที่โรงพยาบาลบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ กันอีกครั้ง
“ครึ่งหนึ่งไม่มีการคุมกำเนิด ส่วนที่เหลือคุมแล้วแต่พลาด”
คุณหมอหนุ่มจากโรงพยาบาลบ้านโคก ขยายความว่า ต้นสายปลายเหตุของการ ‘ไม่คุม’ เนื่องมาจากความคิดที่ว่าอายุมากแล้ว นาน ๆ จะมีเพศสัมพันธ์กับสามีสักครั้ง คงไม่ตั้งครรภ์
“พออายุเยอะ นานๆ เจอกันที บางคนประจำเดือนเริ่มขาดๆ หายๆ คิดว่าคงจะหมดประจำเดือนแล้ว ก่อนหน้านั้นเคยกินยาคุมมาดีๆ ก็เลิกกินไปเฉยๆ” ทั้งที่จริงแล้ว จะมั่นใจได้ว่าหมดประจำเดือนแล้วแน่ๆ ประจำเดือนจะต้องขาดสนิทอย่างต่อเนื่องจนครบระยะ 12 เดือน
สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สำรวจข้อมูลการคุมกำเนิดของผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ โดยไม่แยกกลุ่มวัย พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การกินยาคุมกำเนิด การใช้วิธีการดั้งเดิม ซึ่งหมายถึงการหลั่งนอกช่องคลอด กับการนับระยะปลอดภัย (หน้า 7 หลัง 7) และการกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ตามลำดับ เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีความเสี่ยงจะเกิดความผิดพลาดสูงเมื่อเทียบกับวิธีการฉีดยาคุม ฝังยาคุม ใส่ห่วงอนามัย ซึ่งพบว่ามีผู้เลือกใช้ในสัดส่วนที่น้อย โดยเฉพาะการทำหมันซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด พบตัวเลขเป็นศูนย์
ถาม นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแพทย์และวิจัย ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ว่าพบปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของกลุ่มคุณแม่บ้านบ้างหรือไม่ คุณหมอตอบทันทีว่า “มีครับ” เจาะลึกถึงสาเหตุของปัญหาในมุมมองหมอ
“สาเหตุสำคัญคือ ขาดการวางแผนครอบครัว และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ คือไม่รู้ว่าการท้องเกิดขึ้นได้ง่าย ส่วนใหญ่ใช้การหลั่งนอก ซึ่งโอกาสพลาดสูงจนแทบจะเท่ากับการโยนหัวโยนก้อย ผู้ชายเมื่อแต่งงานแล้วการจะบอกให้ใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่ง่าย ชอบคิดว่า นิดเดียว ไม่ท้องหรอก”
คุณหมอโอฬาริกพูดถึงการวางแผนครอบครัวหลังคลอดว่า โดยทั่วไปทางโรงพยาบาลจะให้ข้อมูลและคำแนะนำ แต่เป็นไปได้ว่าก่อนออกจากโรงพยาบาลมีข้อมูลค่อนข้างเยอะ และครอบครัวมัววุ่นวายเรื่องการเลี้ยงลูก คำพูดว่า “ต้องวางแผนครอบครัว” “ต้องคุมกำเนิด” จึงเป็นสิ่งที่ไม่ทันฟัง หลังจากนั้นแม่และเด็กจำนวนหนึ่งก็ไม่กลับมาใช้บริการตรวจเช็คสุขภาพที่โรงพยาบาลอีก
สำหรับวิธีการคุมกำเนิด คุณหมอบอกว่า ไม่มีวิธีใดที่รับประกันผลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกัน ที่สำคัญ ประสิทธิภาพก็ต่างกันด้วย
“การทำหมันถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าทำหลังคลอดเลยจะสะดวกที่สุด และเดี๋ยวนี้มีวิธีการใหม่ๆ ให้เลือกได้เป็นสิบวิธี ทั้งแบบที่ใช้และไม่ใช้ฮอร์โมน” แนะนำว่าควรหาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตนเองและคู่มากที่สุด
ท้องไม่พร้อม หมอไม่พร้อม
เมื่อเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ผู้ประสบปัญหามี 2 ทางเลือกหลัก ได้แก่ หนึ่งการยุติการตั้งครรภ์ และ สองการเดินหน้าตั้งครรภ์ต่อไปเพื่อคลอด
ทางเลือกแรกในการยุติการตั้งครรภ์ หลายคนยังไม่รู้ว่า ในประเทศไทย บริการยุติการตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่ ‘ถูกกฎหมาย’ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2548ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548
สาระสำคัญคือการยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือเกิดจากปัญหา ‘สุขภาพทางกาย’ หรือ ‘สุขภาพทางจิต’ ของหญิงมีครรภ์ โดยจะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งได้รับใบอนุญาตจากแพทยสภาจำนวน 2 คนให้การรับรอง
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ตามเงื่อนไขของกฎหมายยังถือเป็นสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของหญิงไทยในทุกกลุ่มอายุอีกด้วย
กลับไปที่กรณีท้องไม่พร้อมของ ‘กุ้ง’ คุณแม่ลูกสามจากจังหวัดสุพรรณบุรี ถามว่า ถ้าปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีกในวันนี้ เธอจะสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งมีทั้งกฎหมาย ระบบบริการและสิทธิสุขภาพ รองรับไว้แล้วโดยสวัสดิภาพใช่หรือไม่
คำตอบคือ “ยังไม่แน่”
สิ่งที่เธอต้องเผชิญที่โรงพยาบาลอาจยังเป็นเรื่องเดิม คือ “หมอไม่ยอมทำให้” เพราะแม้การยุติการตั้งครรภ์จะทำได้ตามกฎหมาย และเครื่องไม้เครื่องมือยุคใหม่ก็ทันสมัยช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยได้มากกว่าเดิม กระนั้น จนถึงวันนี้ มีโรงพยาบาล และแพทย์/พยาบาล เพียงจำนวนน้อยนิดที่พร้อมจะจัดบริการยุติตั้งครรภ์
“ปัญหาใหญ่อยู่ที่ทัศนคติของผู้ให้บริการ พุทธศาสนายังมีอิทธิพลสูงที่ทำให้บุคลากรมองการทำแท้งในมุมเรื่องบุญบาป”
นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หรือเครือข่าย RSA (Referral System for Safe Abortion) ชี้ว่า ในมุมมองด้านสุขภาพและสาธารณสุข การตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง เมื่อคนขาดความเข้าใจ ไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิด หรือแม้จะคุมแล้ว แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องมีระบบบริการรองรับ เพื่อให้คนมีชีวิตรอดปลอดภัย
“คนมักจะมองท้องไม่พร้อมว่าเป็นความไม่รับผิดชอบ ไม่กินยาคุม ไม่ใช้ถุงยาง ปัญหามันไม่ได้ตื้นแบบนั้น แต่เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน สังคมเราไม่ได้ทำให้คนมีความพร้อมมากพอจะดูแลตัวเองให้ปลอดภัย และไม่ว่าจะคุมกำเนิดอย่างไร ความเสี่ยงก็มีทั้งนั้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คนก็หวังพึ่งหมอ แต่เมื่อหมอไม่รับ ก็ต้องหาที่พึ่งอื่น ไปตายเอาดาบหน้า ไปทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก”
เครือข่าย RSA จัดตั้งขึ้นโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชน รวมตัวกันรับส่งต่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ปัจจุบันมีบุคลากรในเครือข่ายประมาณ 600 คน มีสถานบริการเข้าร่วมเครือข่ายประมาณ 100 แห่ง
คุณหมอเรืองกิตติ์ ยอมรับว่า แม้บรรยากาศจะดูเหมือนเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในแง่ของกฎหมาย นโยบาย และทัศคติโดยรวมของสังคม กระนั้น การจะขับเคลื่อนงานบริการยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิ ไม่สามารถทำได้โดยการบังคับหรือใช้อำนาจสั่งการ
“ผู้ที่ให้บริการจำนวนมากเจอปัญหาเพื่อนร่วมงานไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่มีคนช่วย ไม่ให้ใช้ห้อง หลายคนพยายามจะช่วยคนไข้ แต่พอต้องเจออุปสรรคเยอะก็เริ่มท้อ บางแห่งก็จำเป็นต้องหยุดไป เครือข่ายฯ ต้องช่วยให้กำลังใจกัน ลงพื้นที่ไปเยี่ยมสมาชิก ไปช่วยพูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลและทีมงาน”
อีกภารกิจสำคัญที่เครือข่าย RSA พยายามลดช่องว่างของบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ทั่วถึงในปัจจุบัน คือการสร้างช่องทางเพื่อให้ผู้ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงระบบช่วยเหลือได้เร็วที่สุด โดยผ่านสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 และเว็บไซต์ www.rsathai.org และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Rsathai
กรณีของ ‘กุ้ง’ หากเข้าถึงระบบช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เธอจะรู้ว่ามีทางเลือกใดบ้าง และสุดท้าย ถ้าตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เธอจะได้รับการส่งต่อให้เข้าใช้บริการยังสถานพยาบาลที่มีบริการปลอดภัยซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด
ที่มา : “ท้อง” วัยทอง โดย คุณรัชดา ธาราภาค
กรุงเทพธุรกิจ : https://judprakai.bangkokbiznews.com/social/1432 อัพเดทเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563