นายแพทย์วรชาติ มีวาสนา ผู้แทนเครือข่าย RSA (Referral System for Safe Abortion)

โครงการเครือข่ายบริการทางเลือกสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จัดการเสวนาเชิงนโนบาย ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย “ทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !! ” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวช้องกับการยุติการตั้งครรภ์ วิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นต่างๆ จากกรณีศึกษา และแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องกฎหมายและการยุติการตั้งครรภ์ ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าอุปสรรคด้านหนึ่งของการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย คือ ข้อกฎหมาย ที่ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้แพทย์ผู้ให้บริการในเครือข่ายอาสา RSA ได้รับผลกระทบทั้งๆ ที่ได้ให้บริการภายไต้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ เป็นปัญหาที่สำคัญและทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของผู้ประสบปัญหา

ทางเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และเครือข่ายอาสา RSA จึงได้ร่วมกันยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2561 ร้องเรียนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง โดยให้เหตุผลว่า บทบัญญัติมาตรา 301และ 305 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยชี้ขาดว่าประมวลอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้การที่หญิงทำแท้งลูกเป็นความผิดอาญา ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เหตุเป็นสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและความเท่าเทียม โดยให้เวลาไปแก้ไขภายใน 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หลังจากนั้นจะถือว่ามาตรา 301 สิ้นผลไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนการทำแท้งด้วยเหตุจำเป็นโดยแพทย์ และหญิงที่เป็นมารดายินยอมให้ทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 นั้น แม้ศาลเห็นว่าสามารถทำได้และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลโดยมติเสียงข้างมากเห็นว่า ทั้งมาตรา 301 และ 305 สมควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์

โดยการเสวนาดังกล่าว นพ. วรชาติ มีวาสนา ผู้แทนเครือข่ายอาสา RSA ได้เล่าถึงประสบการณ์ทำงานด้านยุติการตั้งครรภ์มากว่า 10 กว่าปี ตั้งแต่เมื่อครั้งแรกเริ่มโดยใช้วิธีการทางศัลยกรรมโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (MVA: Manual Vacuum Aspiration) มาจนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน การยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยา Medabon โดยเป็นไปตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ อีกทั้งยังสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองแพทย์ผู้ให้บริการ โดยให้เหตุผลที่ให้บริการคือ แค่อยากช่วย ไม่ได้อยากทำ

“…ผมไม่มีปัญหาที่จะรับดูแลผู้หญิง ผมฟังเขาอย่างที่เขาเป็น และไม่ได้ตัดสิน ผมทำงานทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Safe Abortion หรือ มหัศจรรย์ 1,000 วัน เพราะผมเป็นสูติแพทย์ ผมเป็นลูกพระบิดา ผมเชื่อว่าเจตนาที่ผมทำผมแค่ช่วย เมื่อผมช่วยได้ ทำไมผมจะไม่ช่วย แท้ง ก็เหมือนหวัด การรักษาก็จ่าย Medabon …” บางส่วนบางตอนจากคลิป

ที่มา : https://youtu.be/1C1YK52QLBQ การเสวนาเชิงนโนบาย ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย “ทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !! ” หัวข้อ ม.301 และ 305 ในมุมของแพทย์ผู้ให้บริการ โดย นพ.วรชาติ มีวาสนา ผู้แทนเครือข่ายอาสา RSA

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 8

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้