โครงการเครือข่ายบริการทางเลือกสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จัดการเสวนาเชิงนโนบาย ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย “ทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !! ” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวช้องกับการยุติการตั้งครรภ์ วิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นต่างๆ จากกรณีศึกษา และแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องกฎหมายและการยุติการตั้งครรภ์ ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าอุปสรรคด้านหนึ่งของการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย คือ ข้อกฎหมาย ที่ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้แพทย์ผู้ให้บริการในเครือข่ายอาสา RSA ได้รับผลกระทบทั้งๆ ที่ได้ให้บริการภายไต้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ เป็นปัญหาที่สำคัญและทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของผู้ประสบปัญหา

ทางเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และเครือข่ายอาสา RSA จึงได้ร่วมกันยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2561 ร้องเรียนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง โดยให้เหตุผลว่า บทบัญญัติมาตรา 301และ 305 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยชี้ขาดว่าประมวลอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้การที่หญิงทำแท้งลูกเป็นความผิดอาญา ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เหตุเป็นสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและความเท่าเทียม โดยให้เวลาไปแก้ไขภายใน 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หลังจากนั้นจะถือว่ามาตรา 301 สิ้นผลไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนการทำแท้งด้วยเหตุจำเป็นโดยแพทย์ และหญิงที่เป็นมารดายินยอมให้ทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 นั้น แม้ศาลเห็นว่าสามารถทำได้และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลโดยมติเสียงข้างมากเห็นว่า ทั้งมาตรา 301 และ 305 สมควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์

มุมมองของนักวิชาการต่อการเสนอให้แก้ไขกฎหมายทำแท้ง ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี : อาจารย์ประจำคณธนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ไปสู่การยกเลิกกฎหมาย เป็นเพียงผ่อนปรนเพื่อให้เกิดการปรับแก้ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน การเสนอแก้ไขกฎหมายจะต้องมีข้อมูลที่หนักแน่นเพียงพอ ประเด็นที่เห็นว่า ต้องมีจุดยืนร่วมกันและต้องมีข้อมูลหนักแน่นเพื่อสนับสนุนการเสนอแก้ไข เช่น เงื่อนไขอายุครรภ์ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องทำแท้งควรเป็นใครได้บ้าง เงื่อนไขการให้บริการที่ต้องขยาย เงื่อนไขการจัดบริการ และเงื่อนไขที่หากต้องต่อรองแล้วจะพอยอมรับได้/ไม่ได้แค่ไหน ? เป็นต้น

• การแก้ไขกฎหมายจะต้องมีออกแบบให้เห็นทั้งระบบ ศูนย์บริการอย่างไรบ้าง การให้ข้อมูลตัดสินใจ การดูแลก่อน/หลังการทำแท้ง และการโอบกอดผู้หญิงที่ตัดสินใจตั้งครรภ์/เก็บลูกไว้จะดูแลอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขต้องมีบทบาทนำเพราะเป็นหน่วยที่มีความเข้าใจเรื่องนี้มากที่สุด

• ในการจัดการยกร่างกฎหมาย เสนอให้เขียนเทียบรายมาตราแต่ละมาตราให้เห็นสาระของกฎหมายเก่าและสาระของกฎหมายใหม่ที่ต้องการ พิจารณาคำต่อคำ และให้ถกเถียงจนได้ข้อสรุปร่วมกันในแต่ละข้อ ควรวางแผนการการทำงานให้เห็นจังหวะเวลา (Timeline) ในการเคลื่อนงานแต่ละช่วง ให้สอดคล้องกับกระบวนการแก้ไขกฎหมายและการเสนอกฎหมาย

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=achuXeEFiIk

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 2

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้