การตีตราสังคมต่อเรื่องทำแท้งยังคงดำรงอยู่ …
เปิดด้วยทัศนะด้วย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่าท้องไม่ท้อง แท้งไม่แท้ง กันมาตลอด ซึ่งเป็นกระแสที่สังคมเริ่มมีการพูดถึงกัน นั่นแสดงให้เห็นว่ามีการถกเถียงกันว่าถูกหรือไม่ถูก อย่างที่เรารู้กันมาตลอดว่าความเชื่อของคนในสังคมเรื่อง SEX กับการเจริญพันธุ์ ที่คนส่วนมากเห็นร่วมกันคือ จะต้องเกิดจากสถานการณ์ “การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว” และจะต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลทารกที่เกิดมา ความเชื่อนี้มันเกาะกุมคนในสังคมมานาน และเป็นตัวกำหนดที่ตัดสินความผิด ความไม่ถูกต้องหากไม่ทำตาม ในสังคมหากมีการท้องขึ้นมาแบบไม่ใช่ผัวเดียวเมียเดียว อาจเกิดจากการผิดพลาด จากหลายๆ ปัญหาเกิดขึ้น ผู้หญิงพวกนี้จะกลายเป็นประเด็นในสังคมที่เค้าอยู่ทันทีโดยถูกตัดสินความผิดทันที การตัดสินใจหรือการเลือกของผู้หญิง ว่าการท้อง การคลอด การคุมกำเนิด หรือแม้แต่การตัดสินใจที่จะร่วมเพศก็ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตัวเองในสังคมนี้ ทั้งหมดนี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำ เพศสภาพที่เลือกไม่ได้ ทางเลือกของการท้องไม่พร้อมจะต้องมีมากกว่าหนึ่งทางเลือกให้ทางเจ้าของสถานการณ์สามารถมีทางเลือกเองได้ ตัดสินใจเองได้ การด่าและการประณามที่สังคมสร้างขึ้นมาร่วมกันนี้ มันไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมา ขณะที่มีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมให้ปัญหานี้ถูกตัดสินผิด ๆ จากมายาคติของสังคมให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และต้องการสร้างความหวังของสังคมใหม่ที่มองว่า การท้องไม่พร้อม เกิดขึ้นได้ไม่ผิดและมีแนวทางช่วยเหลือได้ ซึ่งผ่านมาในช่วงหลังนี้มีคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนเรียกร้องให้ภาครัฐและสังคมทบทวน เข้าใจปัญหานี้ให้มากขึ้น.
บริการยุติการตั้งครรภ์ยังเข้าถึงยาก
คุณสุพีชา เบาทิพย์ กลุ่มทำทาง พูดเรื่องสำคัญของกฎหมายที่ระบุว่าการทำแท้งมีความผิดตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมาผู้หญิงที่ทำแท้งในสังคมไทยที่ผ่านมามีกฎหมายที่มีการกำหนดความผิดมาโดยตลอด และเมื่อไม่นานมานี้จากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เกี่ยวกับกฎหมายเรื่องการทำแท้งว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28 ส่วนมาตรา 305 ที่ระบุว่า ‘ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และ 302 เป็นการกระทำของแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น (2) หญิงมีครรภ์ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 และมาตรา 77 โดยคุณสุพีชา ได้เคลื่อนไหวมาตลอดเพื่อขอให้มีการยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่การท้องไม่พร้อมจะต้องมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และจะต้องเข้าถึงได้เป็นพื้นฐานและถูกกฎหมาย มันเป็นเรื่องของสิทธิของผู้หญิง และสิ่งสำคัญที่เราพูดมาตลอดก็คือมันเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ควรมีเรื่องสุขภาพใดๆ ที่เป็นความผิด วันนี้เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงให้เรื่องนี้ถูกต้อง ทำไมเราจะต้องรอ และหมอที่ให้บริการก็จะไม่ต้องกังวล หรือลังเลใจที่จะมาช่วยในเรื่องนี้เพราะกลัวกฎหมาย และจะมีสถานบริการที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นได้.
เรายังดูแลแม่และเด็กจากท้องไม่พร้อมไม่ครบวงจร
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า “คนในสังคม มองว่าผู้หญิงจะต้องเป็นเมียและเป็นแม่เท่านั้น ผู้หญิงท้องไม่พร้อมจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเลือกที่จะเป็นแม่ก็มี ต้องมีทางเลือกได้ที่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นแม่หรือไม่เป็นแม่ได้ตัวเอง จะต้องมีการทำแท้งอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายอย่างมีเงื่อนไขให้ปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยให้สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาครบวงจร ที่ให้ทั้งความรู้ และคำแนะนำ ให้รับรู้ถึงสิทธิ และทางออกของการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมได้ดีที่สุด”
ที่มา : “แต่..ยังมีช่องว่างที่ต้องการพัฒนา” การเสวนาและรณรงค์
ชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อม: ความสำเร็จและพันธะกิจที่ต้องสานต่อ เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร