บทความนี้จึงจะชี้ให้เห็นข้อเท็จของสถานการณ์ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ต่างๆ และที่เกิน 12 สัปดาห์ และงานวิจัยที่จะเปิดเผยคัดค้านร่างกฎหมายและความคิดเห็นขององค์กรวิชาชีพ มาติดตามกันนะครับ โดยขอยกความคิดเห็นที่เห็นต่าง ขัดแย้งทางความคิดของการยุติการตั้งครรภ์มาดูกัน

ผู้ที่ไม่ค่อยเห็นด้วย : “สิ่งที่พวกคุณ (หมอที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์) พูดมาว่าผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งมีเหตุผล มีข้อบ่งชี้ แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ ต้องไปเสี่ยงชีวิตทำแท้งกับหมอเถื่อน แล้วต้องติดเชื้อ ตกเลือด มันเป็นเรื่องเดิมๆ ที่วนเวียนได้ยินได้ฟังมาตลอดเป็นสิบๆ ปี พวกหมอที่ชอบทำแท้งก็ทำไป แต่หมอที่ไม่ทำแท้งจะไปว่าเขาผิดก็ไม่น่าจะได้นะ เขาไม่ผิดเพราะมีความเชื่อต่างกันว่ามันเป็นบาป ทำร้ายเด็ก คุณไม่ควรจะไปบีบบังคับเขา ที่คุณบอกว่าจากประสบการณ์ทำแท้งพวกท้องเกิน 12 สัปดาห์แล้วมีอาการแทรกซ้อนน้อยมากถือว่าคุณโชคดี เพราะแม้แต่ในโรงเรียนแพทย์เอง จะพบมีรกค้าง ตกเลือดบ่อยมากต้องรีบขูดมดลูกถือว่าอันตรายมาก”

ในขณะที่ผู้รับบริการสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ปี 2558 – 2563 ทั่วประเทศมีจำนวนถึง 55,308 ราย ปรึกษาที่อายุครรภ์ดังนี้

อายุครรภ์ (สัปดาห์)             

4-9 (35,431 ราย) = 64.1% อันดับ 1
10-12 (5,988 ราย) = 10.8% อันดับ 2

4-12 (41,419 ราย) = 74.9% ช่วงอายุครรภ์ยุติที่มากที่สุด

13-16 (4,214 ราย) = 7.6%
17-20 (2,658 ราย) = 4.8%

13-20 (6,872 ราย) = 12.4% ช่วงอายุครรภ์ยุติอันดับรองลงมา 

21-24 (1,329 ราย) = 2.4%
25-28 (456ราย) = 0.8%
>29 (162ราย) = 0.3%
ไม่มีขัอมูล 9.2%

มีผู้หญิง 8,201 คน ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 13-24 สัปดาห์ ขอยุติการตั้งครรภ์ !!

ร้อยละของกลุ่มอายุผู้มารับบริการ (จำนวน 55,308 ราย)
อันดับ 1. มากที่สุด อายุ 26-45 ปี = 47.9%
อันดับ 2. อายุ 21-25 ปี = 31.3%
อันดับ 3. อายุต่ำกว่า 20 ปี = 20.4%

ขอย้ำว่านี่คือผู้หญิงจำนวนมากมายถึง 8,201 คน ที่มีแนวโน้มที่จะยอมเสี่ยงตาย บาดเจ็บ ทิ้งเด็ก ไปใช้บริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ถ้ากฎหมายจำกัดอายุครรภ์ในการยุติการตั้งครรภ์ และไม่มีแพทย์เพียงพอที่จะยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย สังคมจะรับได้หรือไม่ที่จะให้ผู้หญิงพบกับทางตัน ? ต้องอยู่ที่การเปิดใจ เปิดหูรับฟัง

ผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ : “เราไม่ได้ชอบทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ แต่เราเพียงอยากช่วยให้ผู้หญิงปลอดภัย ไม่ตกเลือด ไม่ติดเชื้อ ที่ต้องไปหาบริการที่ไม่ปลอดภัยที่มีอยู่ทั่วไป เราช่วยไป 1 คนก็เท่ากับลดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บไป 1 คน คำว่าโชคดีไม่มี ไม่ใช่อยู่ดีดีก็โชคดี แต่เป็นเพราะเรามีการเตรียมการรักษาเป็นอย่างดี เตรียมเลือด เตรียมตัวให้พร้อมที่จะให้การดูแลได้ทันทีต่างหาก” 

“ผมไม่รู้สึกเหนื่อยอะไร ผมดีใจทุกครั้งที่คนไข้ออกจากโรงพยาบาลด้วยความปลอดภัย”

“การเอาคนไข้เป็นจุดศูนย์กลาง จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเสียงของเรากลบเสียงของเขา และเราไม่ได้ยินเสียงของเขา”

กลุ่มผู้หญิงในเครือข่ายภาคประชาสังคม : “กฎหมายทำแท้งของไทยหยุดนิ่งมานานมากถึง 112 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงยังมีการตายทุกปีจากการที่กฎหมายไทยที่เอาผิดผู้หญิงทำให้ผู้หญิงหาทางทำแท้งใต้ดิน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในการเปิดกว้างให้ผู้หญิงทำแท้งได้”

“อย่าเอาศีลธรรมมาผูกมัด ตีตราหรือครอบงำผู้หญิง เพราะมันเป็นคนละประเด็นกัน การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องสุขภาพล้วนๆ ที่ทำให้ผู้หญิงปลอดภัยได้”

“ไม่มีการทำแท้งเสรีที่ไหนในโลกนี้ การทำแท้ง คุณหมอก็ต้องดูเหตุผลความจำเป็น ตรวจสุขภาพและไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อมาทำแท้ง”

“ผู้หญิงที่มีปัญหาท้องต่อ แต่เป็นท้องต่อในภาวะจำยอม เป็นภาวะการเลือกระหว่างการท้องต่อ ต้องเป็นแม่ และทำแท้ง บางคนเคยคิด เคยทำแท้งมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จต้องอยู่ในภาวะที่ต้องท้องต่อ”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ”เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” กล่าวว่า “เรายังคงเห็นคนเลือกทำแท้ง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล เขาเหล่านั้นรู้ดีว่าจะเกิดผลกระทบกับชีวิตและสุขภาพหรือถูกตีตราและประณามว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม”

“ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มเยาวชนและผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไปที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว”

“การจะทำแท้งหรือไม่ ควรจะเป็นทางเลือกของเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้”

“เพราะเราไม่ใช่เขา จึงไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต ดังนั้นทางออกคือควรเปิดทางเลือกไว้ให้เขา เข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย คือถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรม ผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเขาเป็นคนเลือกเองว่าจะทำบาปไหม” …

บันทึกความจริงเรื่องความปลอดภัยของการยุติการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ตอนที่ 2
เรื่องโดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA

บันทึกความจริงเรื่องความปลอดภัยของการยุติการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ตอนที่ 1
https://rsathai.org/contents/17441

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 7

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้