มีเหตุการณ์ในเดือนกันยายน 2563 เกิดเหตุที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือ พยาบาลไลน์มาปรึกษาเครือข่ายอาสา RSA
คุณพยาบาล : “มีแม่อายุ 38 ปี ตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ เจาะน้ำคร่ำตรวจโรคดาวน์ซินโดรม ผู้หญิงรายนี้ติดเชื้อเอชไอวี ตั้งแต่ปี 2558 ไม่ได้มารับการรักษาเลย หากต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถส่งต่อที่ไหนบ้างคะอาจารย์ คนไข้รายได้น้อย ตอนนี้เริ่มยารักษาเอชไอวีได้ไม่ถึง 3 สัปดาห์”
“คุณหมอที่โรงพยาบาลไม่รับยุติการตั้งครรภ์เลยค่ะ เลยส่งมาปรึกษา คนไข้ประสงค์ที่จะยุติ เพราะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจด้วยค่ะ”
“ติดต่อพี่…..โรงพยาบาล….แล้ว ตกลงรับยุติการตั้งครรภ์ให้คนไข้เรียบร้อยค่ะ ขอบคุณท่านอาจารย์และเครือข่ายนะคะ”
ผู้หญิงท้อง 5 เดือนรายนี้ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลใหญ่ ภาคเหนือไปเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลเล็กกว่ามากในภาคอิสานเหตุเพราะอะไร มีอาจารย์แพทย์อาวุโสได้สะท้อนปัญหาการที่สูติแพทย์ที่ทำเทคนิคเจาะน้ำคร่ำตรวจหาทารกปัญญาอ่อนในแม่อายุมาก แต่เมื่อผลตรวจว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงเป็นดาวน์ ก็ปฏิเสธที่จะยุติการตั้งครรภ์ให้ด้วยความเชื่อส่วนตัว
“ข้อเท็จจริงในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์กรณีที่เด็กผิดปกติหรือกรณีอื่นๆ ก็ตาม เหตุผลแรกที่เราต้องยึดถือคือ เรื่องความปลอดภัยของคนไข้” “โรงเรียนแพทย์เป็นสถานที่ที่พร้อมที่สุดทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอายุครรภ์มากๆ รองลงมาคือโรงพยาบาลที่สามารถเจาะตรวจน้ำคร่ำหาทารกผิดปกติในครรภ์ได้ เพราะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”
“ณ ปัจจุบันบางครั้งมุมมองเริ่มเปลี่ยนไปเป็นว่า เป็นหน้าที่ใคร ?? ซึ่งถ้าใช้เหตุผลนี้จะเริ่มมีข้อโต้แย้ง : ถ้าเราต้องเป็นผู้กระทำ เราก็คงคิดอย่างหนึ่งว่า กรณีที่มีการส่งมาเพื่อทำการเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาความพิการของทารก เมื่อได้ผลตรวจแล้วผู้ส่งคนไข้มาก็ควรจะต้องเอากลับไปทำเอง (ยุติการตั้งครรภ์) ถ้าด้วยเหตุผลนี้อาจผิด เพราะไม่ใช่ทุกๆ โรงพยาบาลสามารถทำการยุติการตั้งครรภ์ได้เนื่องจากขาดความพร้อม”
“หรือบางกรณี หลังทำการเจาะตรวจน้ำคร่ำ เมื่อได้ผลแล้วขอไม่ทำการยุติการตั้งครรภ์ ส่งไปให้คนอื่นทำสบายกว่า (เป็นเรื่องจริง) ซึ่งกรณีนี้ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี คำถามคือใครต้องทำ”
“แพทย์ทุกคนนั่นแหละ ตอบได้ ถ้ายึดหลักว่า เห็นกับคนไข้ เฮ้อ คิดอะไรไม่ออก บอก RSA -ซานตาครอส ของเรา ทำดีต่อไป เป็นกำลังใจให้เสมอ”
สิ่งหนึ่งที่แพทย์แต่ละคนให้ความเห็นกับสำนักงานกฤษฏีกาต่างกัน คือเรื่องความปลอดภัยในการยุติการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เรื่องนี้กรมอนามัยได้จัดการประชุมวันที่ 17 กันยายน 2563 ให้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยความปลอดภัยของการใช้ยายุติการตั้งครรภ์และการนำมาพัฒนาข้อกฎหมายเพื่อลดการบาดเจ็บและตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ขอนำมาเล่าให้ฟังเพื่อทุกท่านได้พิจารณาครับ
ชื่อ : การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยายุติการตั้งครรภ์มิฟิพริสโตนคู่กับไมโซโพรสตอลในอายุครรภ์ 84-120 วัน (12-20 สัปดาห์) ใน 4 ประเทศ
ผู้นำเสนอ : ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย, ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช
ศึกษาใน 4 ประเทศ 8 คลินิก, ผู้วิจัยหลัก-ประเทศไทย : 3 คลินิก , คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ : ศจ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ,คณะแพทยศาสตร์ศิริราช : รศ.พญ. อรวรรณ คีรีวัฒน์,คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี : ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย และที่ประเทศสวีเดน,อินเดีย และเวียดนาม
ผู้ประสานงาน:ดร.เฮเลนา วอนเฮอร์เซน : ที่ปรึกษาอาวุโสเรื่องการใช้ยายุติการตั้งครรภ์, กรุงเจนีวา,ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ : ดร.วรรณภา นาราเวช ระยะเวลาทำการศึกษา : กุมภาพันธ์ 2558-ตุลาคม 2559
ผู้หญิงที่อยู่ในเกณฑ์คัดเลือกเข้าศึกษา : จำนวน 401 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
—กลุ่ม1 : ใช้ยา 2 ชนิดห่างกัน 24 ชั่วโมง :199 คน: ท้องแรก 44.7%,ค่ามัธยฐานอายุครรภ์ 104 วัน
—กลุ่ม2 : ใช้ยา 2 ชนิดห่างกัน 48 ชั่วโมง : 202 คน: ท้องแรก 40.1% ค่ามัธยฐานอายุครรภ์ 103 วัน
เปรียบเทียบผลการใช้ยาในระยะห่างกัน 24 และ 48 ชั่วโมง
เกณฑ์การคัดเลือกผู้หญิง : แข็งแรง ไม่มีโรคข้อห้ามการใช้ยา,ไม่มีโรคเรื้อรัง,ไม่ซีด หรือซีดแต่ค่าสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงมากกว่า 90 กรัมต่อลิตร,เคยผ่าตัดคลอดชนิดแผลขวางที่มดลูกส่วนล่าง (low transverse cesarean section) อนุญาติให้เข้าร่วมศึกษาได้
วิธีการ :
1. พบแพทย์ครั้งแรก : กินยามิฟิพริสโตน 200 มิลลิกรัม ที่โรงพยาบาลพักดูอาการ15นาทีแล้วจึงให้คนไข้กลับบ้าน
2. พบแพทย์ครั้งที่ 2 : กลุ่มแรก 24 ชั่วโมง ห่างจากการกินยามิฟิพริสโตน กลุ่มที่สอง 48 ชั่วโมงจากการกินยามิฟิพริสโตน
ทั้ง 2 กลุ่มให้รับไว้ในโรงพยาบาลและแพทย์จะให้ยาไมโซโพรสตอล 800 ไมโครกรัม สอดช่องคลอดและหลังจากนั้นทุก 3 ชั่วโมงให้ยาไมโซพรอสตอล 400 ไมโครกรัม นับไปโดสที่ 1,2,3,4,5
ผลการศึกษา
ประสิทธิภาพ
อัตราการแท้งสมบูรณ์หรือแท้งครบ
•กลุ่ม 24 ชั่วโมง เท่ากับ 99.5%
•กลุ่ม 48 ชั่วโมง เท่ากับ 98.6%
ระยะเวลานับตั้งแต่ใช้ยาไมโซโพรสตอล โดสแรกจนตัวอ่อนหลุดออกมา
• กลุ่ม 24 ชั่วโมง เท่ากับ 350 นาที
• กลุ่ม 24 ชั่วโมง เท่ากับ 300 นาที
ระยะเวลาที่รกหลุดลอกตัวออกมานับตั้งแต่ใช้ยาไมโซโดสแรก
• กลุ่ม 24 ชั่วโมง เท่ากับ 390 นาที
• กลุ่ม 48 ชั่วโมง เท่ากับ 330นาที
จำนวนโดสยาของไมโซโพรสตอลที่ทำให้เกิดการแท้งเท่ากับ 2 โดส
• กลุ่ม 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดการแท้งเท่ากับ 50.3%
• กลุ่ม 48 ชั่วโมง ทำให้เกิดการแท้งเท่ากับ 54.4%
ความปลอดภัย
อาการไม่พึงประสงค์ :
• มีเลือดออกรุนแรง 1 รายจาก 401 รายเท่ากับ 0.2% และได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย
อาการข้างเคียง : ได้แก่ ปวดท้องน้อย เวียนศรีษะ ปวดศรีษะ ท้องเสีย พบว่าไม่แตกต่างกันทั้ง 2 กลุ่ม ยกเว้นอาการคลื่นไส้ อาเจียนจะพบในกลุ่ม 24 ชั่วโมงมากกว่ากลุ่ม 48 ชั่วโมง
ข้อเสนอแนะจากผู้วิจัย :
การศึกษาพบว่าการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยามิฟิพริสโตนร่วมกับไมโซโพรสตอลในอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ต้องทำในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือที่พร้อมดูแลได้ เนื่องจากอาจมีโอกาสตกเลือดในผู้หญิงที่มารับบริการ
นั่นคือจากหลักฐานผลการวิจัยที่กล่าวมานี้ ยืนยันว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด ยิ่งอายุครรภ์มากก็ต้องยิ่งให้แพทย์และทีมงานเป็นผู้กระทำ และทำได้ ปลอดภัยได้ ไม่ใช่ให้ผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ทำ ซึ่งคนไข้มีโอกาสเสียชีวิตได้
นพ.บัญชา ค้าของ กล่าวเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 กับผู้สื่อข่าวว่า “การยุติการตั้งครรภ์คือ บริการสุขภาพ เป้าหมายเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงตั้งครรภ์ ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยการสื่อสารทั้งออนไลน์และรณรงค์ในเวที เสวนาต่างๆ และจัดการองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมได้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย”
อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ต้องสร้างความเป็นเพื่อนในหมู่แพทย์ที่ไม่เห็นด้วยเขาจึงจะฟังสิ่งที่พวกคุณจะพูดเรื่องยุติการตั้งครรภ์ พวกแพทย์หลายส่วนที่ต้านการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แบบไม่ยอมรับคำชี้แจงใดๆ ต่อไปจะเปิดเวทีให้เครือข่ายอาสา RSA เข้าไปพูดคุยกับองค์กรวิชาชีพ”
ท่าน ว.วชิระเมธี ได้กล่าวในธรรมะบรรยายเรื่อง “แค่เปิดใจ เรียนรู้เข้าใจ” ว่า “คนที่เปิดใจนั้น จะเห็นได้กว้าง ได้ลึก ได้ไกล ถ้าไม่เปิด ต่อให้พระพุทธเจ้ามาอยู่ข้างหน้า ก็ไม่เปิดใจฟัง ที่ไม่เปิดใจฟัง เพราะมีความเชื่อฝังใจ มีบทสรุปความเชื่อ ใจไม่เปิด ประตูไม่เปิดรับโลกของความเป็นจริง ต่อให้ความจริงมาอยู่ตรงหน้าเราก็ไม่ได้สัมผัสความจริง”
“แต่ถ้าเปิดใจแล้ว อุปสรรคยิ่งใหญ่แค่ไหน เราก็สามารถเอาชนะอุปสรรคได้ทั้งหมด”
ความเชื่อบังคับกันไม่ได้ก็จริง แต่ถ้าได้สร้างแนวทางการทำงานที่เดินต่อไปได้ด้วยกันอย่างมิตร ประโยชน์จะตกแก่ส่วนรวมและสังคม ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนควรร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี พัฒนาการบริการที่ปลอดภัย เพื่อสร้างสุขภาวะทางเพศให้กับวัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อมต่อไป
ลุงหมอเรืองกิตติ์
บันทึกความจริงเรื่องความปลอดภัยของการยุติการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ตอนที่ 3
เรื่องโดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA
บันทึกความจริงเรื่องความปลอดภัยของการยุติการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ตอนที่ 1
https://rsathai.org/contents/17441
บันทึกความจริงเรื่องความปลอดภัยของการยุติการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ตอนที่ 2 : https://rsathai.org/contents/17445