ไก่ (นามสมมุติ) แม่เลี้ยงเดี่ยวอายุ 38 ปี เธอมีลูกสามคน อายุ 6 12 และ 14 ปี อยู่ที่อีสาน ไก่มาทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเงินให้ลูกโดยฝากลูกไว้ที่ยาย เกิดโควิด19 ระบาดเมื่อต้นปี 2563 จึงต้องกลับบ้านเกิด ทำอาชีพรับจ้างทำไร่รายวันเพื่อหาเงินเลี้ยงลูก 

ไก่ได้คบหากับคนที่รับจ้างทำไร่ด้วยกันเป็นแฟน  คิดหวังจะพึ่งพาช่วยค่าใช้จ่ายครอบครัวเธอได้บ้าง ไก่ท้องกับแฟนคนนี้ทั้งๆ ที่กินยาคุมกำเนิดจึงได้บอกแฟนไป แต่พูดคุยกันหลายครั้งผู้ชายก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ จึงตัดสินใจลงไปหาสถานที่ทำแท้งที่พัทยาเพราะคิดว่าสถานที่แบบนั้นน่าจะมี เมื่อไปถึงพัทยาไก่ได้โทรหาแฟนอีกครั้ง แต่เขากลับบอกว่าไม่ต้องติดต่อมาอีกเพราะเขามีเมียใหม่แล้ว 

ไก่หาที่ทำแท้งไม่ได้ จึงตัดสินใจเข้ามาพักอยู่กับเพื่อนในกรุงเทพ เครียด คิดฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าที่สงบมา 3 ปีก็กำเริบขึ้น เธอเริ่มหายาทำแท้งในอินเตอร์เน็ต พบ 1663 จึงโทรไป หลังจากการปรึกษาทางเลือก เธอตัดสินใจแล้วว่าท้องต่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงประสานส่งไปที่ โรงพยาบาลเครือข่าย RSA ในกรุงเทพฯ ผลอัลตร้าซาวด์พบว่าตั้งครรภ์ 18-19 สัปดาห์ เมื่อตรวจเลือดพบว่า เธอมีกรุ๊ปเลือดพิเศษ B RH negative จึงไม่ให้บริการเพราะไม่แน่ใจว่าจะหาเลือดสำรองให้เธอได้ เมื่อความหวังที่มีพังลง เธอร้องไห้หนักมากคิดจะฆ่าตัวตายวันละหลายรอบ เจ้าหน้าที่ 1663 จึงได้ติดต่อมาที่ โรงพยาบาลเครือข่าย RSA อีกแห่งในภาคอีสานที่รับอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่พบปัญหาเดียวกันคือหาเลือดสำรองพิเศษยาก แต่ในที่สุดโรงพยาบาลก็รับไว้ 

วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ไก่เดินทางมาถึงโรงพยาบาล ซักประวัติ-ตรวจร่างกาย รับการปรึกษาจากพยาบาลจิตเวช RSA อีกครั้งเพื่อตัดสินใจ เธอยืนยันท้องต่อไม่ได้พร้อมบอกเล่าชีวิตของเธอ จากการประเมินสุขภาพจิตด้วยแบบทดสอบซึมเศร้า พบโอกาสฆ่าตัวตายสูง แพทย์ RSA จึงได้อัลตร้าซาวด์ เจาะเลือดอีกครั้ง และเข้าระบบรอเลือดจากสภากาชาดไทย โดยได้แจ้งให้เธอประกาศขอบริจาคเลือดทางโซเชียลมีเดียผ่านทางสภากาชาดไทย เมื่อไก่รับรู้ว่าหมอและพยาบาล RSA พยายามช่วยเหลือเต็มที่แล้ว อาการซึมเศร้าของเธอก็ดีขึ้น

19 ธันวาคม 2563 ระหว่างรอรับบริจาคเลือด พยาบาล RSA พบสัญญานสายที่ไม่ได้รับ 3 ครั้งในช่วงกลางดึก จึงโทรกลับไปตอนตีหนึ่ง พบว่าไก่กำลังจะผูกคอตาย เธอร้องไห้หนักจนฟังไม่รู้เรื่องในช่วงแรก พยาบาลจิตเวชได้พูดคุยให้เธอตั้งสติก่อน เมื่อรู้ตัวเธอบอกพยาบาลว่ากลัวว่าจะไม่ได้เลือด พยาบาลบอกว่าทางโรงพยาบาลให้บริการได้ถึง 24 สัปดาห์ ยังมีโอกาสรอมากถึง 5 สัปดาห์ มีโอกาสที่จะได้แน่นอน

23 ธันวาคม 2563 ไก่จึงได้เดินทางเพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลอีกครั้ง หลังจากทราบว่าได้รับเลือดสำรอง โดยพักค้างที่พักใกล้ๆ กับโรงพยาบาล เธอต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากได้ใช้เงินไปกับการเดินทางเพื่อหาที่ยุติการตั้งครรภ์ ทั้งพัทยา กรุงเทพฯ ไป-กลับโรงพยาบาลนี้จนมีเงินเหลือน้อยมาก ส่วนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ สปสช. อุดหนุนค่าบริการ รวมทั้งค่าคุมกำเนิดหลังจากนี้ด้วย 

25 ธันวาคม 2563 แพทย์ RSA มีความจำเป็นต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าไปให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายทำแท้ง จึงต้องเลื่อนนัดเธอออกไปก่อน ไก่จึงพบปัญหาเงินไม่พอจ่ายค่าพักค้างเพื่อรอหมอ เธอกังวลมากจนนอนไม่ได้ หลังจากนั้น พยาบาล RSA จึงประสานไปที่ 1663 เพื่อขอทุนจากกองทุนเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ เพื่อช่วยเหลือเธอ

28 ธันวาคม 2563 ไก่ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยโดยทีมงานแพทย์และพยาบาลอาสา RSA โดยได้รับการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพด้วยการฝังยา 

มาถึงวันนี้ ไก่รู้สึกว่าตนเองนั้นโชคดีมากที่ไม่เอาตัวไปเสี่ยงกับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำให้เธอเสียชีวิตได้ หากเป็นเช่นนั้นแล้วแม่และลูกๆ ของเธอที่พึ่งพารายได้จากเธอคนเดียว จะมีชีวิตเป็นเช่นไร?  

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.2 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 45

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้