“มีเรื่องอยากเล่าค่ะ..”
“มีเคสโดนข่มขืน เป็นผู้พิการเดินไม่ได้ไปที่โรงพยาบาล….. แต่แพทย์ส่งต่อให้ไปที่คลินิก….”
“เศร้าจัง….”

ในวันที่กฎหมายทำแท้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เราได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือ ว่ามีหญิงอายุ 35 ปี ถูกข่มขืนและตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์โดยผู้เป็นแม่ได้อุ้มพามา ที่น่าเห็นใจคือ หญิงนั้นมีความพิการด้านสติปัญญาและกาย เดินไม่ได้ต้องใช้วีลแชร์ ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายกฎหมายทำแท้งมาตรา 305 (3) อย่างชัดเจน คือตั้งครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ไม่ต้องมีการแจ้งความ และแม่ผู้พามารับการรักษาที่โรงพยาบาลยืนยันเหตุแห่งการตั้งครรภ์

ปัจจุบันการยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐ สามารถเบิกจาก สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ทุกสิทธิ โดยหญิงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และสามารถฝังยาคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำได้ด้วย แต่เมื่อหญิงพิการผู้เคราะห์ร้ายถูกปฏิเสธบริการนี้ ผู้เป็นแม่จำต้องเดินทางข้ามอำเภอเพื่อพาลูกมาที่คลินิกแห่งนั้น ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่สองพันบาทก็หมดไปกับค่าเดินทางเพื่อพาลูกพิการมา ทางคลินิกจึงได้โทรประสานไปที่ 1663 เพื่อขอให้ช่วยประสานกองทุนสนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์

เมื่อแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐไม่ให้บริการทั้งๆ ที่เข้าข่ายตามกฎหมายอย่างชัดเจน สิทธิที่หญิงควรได้จาก สปสช. ก็ไม่ได้ และยังไม่ได้สิทธิการฝังยาคุมกำเนิดด้วย ซึ่งเป็นอีกสิทธิที่ทาง สปสช. ให้กับหญิงหลังยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ กรณีนี้แม้หญิงจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อยุติการตั้งครรภ์ แต่การขอรับบริการฝังยาที่โรงพยาบาลก็ต้องจ่ายค่าบริการเองประมาณ 2,500 บาท การใช้สิทธิไม่ได้เนื่องจากไม่ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งนั้นนั่นเอง เรื่องราวของหญิงพิการที่ถูกข่มขืนจบลงแล้ว แต่ใครเล่าจะรู้ว่าเหตุเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ และการเดินทางข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ข้ามภูมิภาคก็จำเป็นต้องทำตราบใดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านไม่สามารถให้บริการได้

เครือข่ายอาสา RSA เรามีจุดยืนที่จะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงปลอดภัย เรารับรู้ดีว่าการให้บริการในบางกรณีแพทย์บางท่านอาจไม่สะดวกใจนัก แต่ขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ต่อกรณีที่เข้าข่ายตามกฎหมายที่มีความชัดเจน โดยเฉพาะตามกฎหมายทำแท้งมาตรา 305 (1) (2) และ (3) ที่การยุติการตั้งครรภ์จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากจะเสี่ยงต่อ 1) การได้รับอันตรายทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น 2) ทารกคลอดออกมามีความผิดปกติทุพลภาพร้ายแรง และ 3) การกระทำความผิดทางเพศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อหญิงในสิทธิต่อการได้รับบริการสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพต่อไป

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 9

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้