วันนี้ 29 มีนาคม 2564 เครือข่าย RSA ได้ร่วม “การประชุมการบริหารจัดการงบประมาณสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี ประจำปีงบประมาณ 2564” ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต จัดโดย สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข.ผู้เข้าร่วมประชุม เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานศูนย์พึ่งได้ (oscc) ทั้ง รพศ. รพท. และ สสจ. ประกอบไปด้วย นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ประมาณ 200 คน
โดยทาง RSA ได้ร่วมจัดบูทประชาสัมพันธ์ ขยายเครือข่ายและแพทย์ RSA นายแพทย์กษมพล ชวนะชิต โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช ได้ร่วมอภิปราย หัวข้อเรื่อง “มิติการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร”
ผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบไปด้วย
1. ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์
2. นางสาวอชิมา เกิดกล้า นักวิชาการอิสระ
3. นางณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง
4. นางวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลปทุมธานี
โดยมี นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
การประชุมนี้เป็นการประชุมชี้แจงงานศูนย์พึ่งได้ ในปีงบประมาณ 2564 จากส่วนกลางไปยังผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในการให้บริการหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาล (oscc) ได้จัดระบบบริการให้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการได้แลกเปลี่ยนการทำงาน เพื่อพัฒนางานให้บริการหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพื่อรองรับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป
การอภิปรายในหัวข้อนี้ ได้เริ่มจาก นายแพทย์พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ได้อภิปรายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักๆ 2 พ.ร.บ. คือ
1. พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานบริการและการดำเนินการของสถานบริการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2562
และ 2. “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564” ที่มีการแก้ไขจากกฎหมายเดิม จากที่ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 63 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า กฎหมายอาญามาตรา 301 ที่เอาผิดหญิงทำแท้งนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27,28 และ กฎหมายนี้ใช้มากว่า 65 ปีแล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2499
โดยประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่แก้ไขใหม่ แตกต่างไปสองมาตรา คือ มาตรา 301 และมาตรา 305 ส่วนมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้แก้ไข จึงมีสาระสำคัญและบทลงโทษเท่าเดิม โดยสองมาตราที่แก้ไขแล้ว ดังนี้
⁃ มาตรา 301 กำหนดให้หญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โดยที่ไม่เข้าเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรา 305 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าอัตราโทษลดลงจากกฎหมายเดิม
⁃ มาตรา 305 เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้ง หรือผู้ที่ทำให้หญิงแท้งโดยหญิงยินยอมไว้กว้างขึ้น หากเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
มาตรา 305 (1) – (3) หญิงสามารถทำแท้งได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุครรภ์
และปัจจุบัน กรมอนามัย กำลังเร่งทำประกาศกระทรวงเพื่อรองรับ มาตรา 305(5) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน
เมื่อกฎหมายเปิดกว้างให้หญิงเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์มากขึ้น มีสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของตนเอง กรมอนามัยตั้งเป้าหมาย 1 จังหวัด 1 หน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ ส่วน การปรึกษาทางเลือกนั้น ทุกสถานบริการจะต้องให้การปรึกษาทางเลือกได้
อาจารย์พีระยุทธ ทิ้งท้ายไว้ว่า “การเกิดคุณภาพ มาจากท้องที่พร้อม ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจตั้งครรภ์ เพื่อที่จะมาทำแท้ง ความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาด เราต้องจัดบริการที่เหมาะสมให้กับเขา เราในฐานะผู้ที่ให้บริการ มีความรู้ที่สามารถช่วยเหลือเขาได้มากกว่า เลือกแล้วที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ เราต้องดูแลเขา นี่คือหน้าที่”
คุณทัศนัย กล่าวเสริมถึงความไม่พร้อมของผู้หญิง อาจมาจากความเปราะบางในชีวิต ความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ ซึ่งรัฐจะต้องจัดบริการในการดูแลช่วยเหลือ
ก่อนจะส่งต่อให้ คุณอชิมา ได้อภิปรายถึง การให้การปรึกษาทางเลือกคุณอชิมา เป็นข้าราชการบำนาญ อดีต ดูแลรับผิดชอบศูนย์พึ่งได้อยู่ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าประวัติการจัดระบบดูแลหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมของศูนย์พึ่งได้ และเคยจัดอบรม เมื่อปี 2552 ให้กับผู้ปฏิบัติงานศูนย์พึ่งได้
และประชาสัมพันธ์ หลักสูตร “หลักสูตรการปรึกษาเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพแนวสตรีนิยม” หรือ หลักสูตร “บ้านดิน” จ.เชียงใหม่ ของอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ระยะเวลาอบรม 7 วัน หลักสูตรนี้ จะสามารถลดการตีตรา ลดอคติ ปรับทัศนคติเชิงบวกให้คนทำงานกับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้
ที่ผ่านมา ผู้ปฏิบัติงานศูนย์พึ่งได้ ได้เข้าอบรมแล้วหลายรุ่นและคาดว่า จะสามารถใช้หลักสูตรนี้รับรองให้ผู้ผ่านการอบรม ปฏิบัติงานให้คำปรึกษาทางเลือก ตามประกาศกระทรวง ในมาตรา 305(5)ได้
คุณติ๊ก ทัศนัย ได้สรุปถึงการให้การปรึกษาทางเลือกนั้น จะต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ชี้นำ ไม่ตีตรา เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและจะประชาสัมพันธ์หลักสูตรบ้านดินให้กับสมาชิก RSA
ทางเลือกของหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม
ทางเลือกแรก คือทางตั้งครรภ์ต่อ ผู้ที่ทำงานด้านนี้มาอย่างยาวนาน คุณแคท ณัฐิยา จากบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง ได้อภิปรายถึงการทำงานของหน่วยงานที่ให้บริการดูแล เยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจ หญิงท้องไม่พร้อมที่เข้าสู่บ้านพักฉุกเฉิน มีการจัดสวัสดิการทางสังคมให้ในแต่ละราย ดูแลทั้งแม่และลูกจนกว่าเขาจะสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งการทำงานของบ้านพักฉุกเฉิน จะไม่ต่างจากบ้านพักเด็กและครอบครัวตามจังหวัดต่างๆ ในการดูแลหญิงตั้งครรภไม่พร้อม เป็นสถานที่รองรับสำหรับหญิงที่ต้องการที่พักรอคลอด เพียงแต่ระบบการดูแลของรัฐ อาจจะยังไม่ชัดเจนและปฏิบัติงานไม่ได้จริงในแต่ละพื้นที่ ตามที่นักสังคมสงเคราะห์ศูนย์พึ่งได้ ประสบปัญหามาเช่นเดียวกันในการส่งเคสปรึกษา
บ้านพักฉุกเฉินจะดูแลในเรื่องการวางแผนการคุมกำเนิดด้วย ในวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปี ฝังยาได้ทุกสิทธิ์ แต่หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จะมีปัญหาการรับบริการฝังยาคุม เนื่องจากไม่สามารถเบิก สปสช.ได้
คุณติ๊ก ทัศนัย ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า รัฐได้จัดสวัสดิการทางสังคมที่เพียงพอให้กับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม เมื่อเธอเลือกทางท้องต่อแล้วหรือยัง รวมถึงหญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ บริการที่รัฐจัดให้เพียงพอไหม
ต่อมาทางเลือก ยุติการตั้งครรภ์ โดยแพทย์กษมพล ชวนะชิต แพทย์ RSA ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ดูแลช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมในภาคใต้ โดยได้จัดระบบการให้บริการร่วมกับ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ อีกต่างสถานบริการ เนื่องจากที่โรงพยาบาลของหมอเองไม่มีผู้ช่วยในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยเฉพาะไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม ให้คำปรึกษาทางเลือก ก่อนส่งเคสให้กับคุณหมอเพื่อยุติการตั้งครรภ์
เคสที่ส่งมาให้คุณหมอ บางรายต้องไปถึง 3 สถานบริการ จึงจะได้รับการยุติการตั้งครรภ์ได้ เช่น บางรายได้รับการปรึกษาทางเลือกแล้ว ต้องส่งไปขอลายเซ็นแพทย์คนที่ 1 ก่อนส่งไปให้คุณหมอยุติการตั้งครรภ์ และบางครั้ง 3 สถานบริการนี้ ก็อยู่คนละจังหวัด จะเห็นได้ว่าเส้นทางนี้ของหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความไม่พร้อมของบุคลากรในโรงพยาบาลของคุณหมอเอง คุณหมอจึงยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธี MVA วิธีเดียว ไม่มีการใช้ยา Medabon
คุณหมอต้องการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัยมากขึ้น โดยวัตถุประสงค์ที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของหญิงที่เข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย
มาถึง คุณแอป วรภัทร นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ศูนย์พึ่งได้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ ในการให้บริการหญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ได้พูดถึงการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือหญิงที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงหญิงท้องไม่พร้อม ซึ่งการให้บริการจะเป็นไปตาม flow กลาง ของศูนย์พึ่งได้ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถนำ flow ไปปรับใช้ได้ และในเคสที่เป็นเคสคดีที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งไม่สามารถให้บริการภายในจังหวัดได้ ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์และตรวจ DNA ได้ตามกระบวนการกฎหมาย
คุณติ๊ก ทัศนัย ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนทัศนคติของผู้ให้บริการ อาจจะต้องให้เขาเข้ามาทำงานกับหญิงท้องไม่พร้อมจริงๆ ด้วยตัวเขาเอง และทิ้งท้ายถึงกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ ที่ทำให้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่อาชญากรอีกต่อไป กฎหมายใหม่จะเอื้อให้ผู้หญิงกล้าที่จะออกมาเปิดเผยการท้องไม่พร้อมของตัวเองมากขึ้นด้วยเป็นสิทธิตามกฎหมาย
สำหรับผู้สื่อข่าว RSA ในวันนี้ ได้เห็นถึงเส้นทางที่หญิงท้องไม่พร้อมจะได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น
หญิงเปราะบางในบางช่วงชีวิตที่เธอไม่สามารถดูแลตัวเองและพึ่งพาใครได้ รัฐต้องเข้ามาดูแลสนับสนุนจัดสวัสดิการทางสังคมให้ นี่คือหน้าที่ของรัฐ
และคาดหวังให้วันหนึ่งข้างหน้า เราจะไม่มี RSA อีกต่อไป ด้วยการยุติการตั้งครรภ์จะต้องเป็นบริการสุขภาพบริการหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีทีมอาสามาช่วยยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้อีกต่อไป คาดหวังให้การทำแท้งเถื่อนลดลง และหมดไป และที่สำคัญผู้หญิงสามารถออกมาบอกกับสังคมได้ว่าตนเองตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องการที่จะยุติการตั้งครรภ์ มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายโดยไม่ต้องแอบ หรือปิดบังเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ปาริษา ด้วงทอง นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
ผู้สื่อข่าว RSA
ข่าวประชาสัมพันธ์/กิจกรรม การประชุมการบริหารจัดการงบประมาณสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี ประจำปีงบประมาณ 2564