นักสังคมสงเคราะห์ RSA ได้รับการประสานจากสายด่วน 1663 ว่ามีหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมในจังหวัด อายุครรภ์ก็ราว 20 สัปดาห์ ไม่เคยฝากครรภ์ ไม่ต้องการเปิดเผยการตั้งครรภ์ให้ครอบครัวและสังคมทราบ จึงโทรนัดให้มาอัลตร้าซาวด์ที่โรงพยาบาล และให้การปรึกษาทางเลือก เพื่อส่งต่อเครือข่าย RSA ได้อย่างเหมาะสมกับอายุครรภ์ของผู้ป่วย
29 สัปดาห์ 4 วัน นั่นคืออายุครรภ์ในวันที่มาตรวจ ทางเลือกจึงมีแค่ท้องต่อ เพราะไม่สามารถที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้แล้ว จึงต้องประเมินศักยภาพว่าจะเลี้ยงดูลูกได้ไหม ประเมินสภาพครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม สุขภาพของแม่และความเสี่ยงที่อาจทิ้งลูก ความปลอดภัยของเด็ก และอื่นๆ เพื่อวางแผนให้ความช่วยเหลือ
ทำไมจึงท้องไม่พร้อม
จุ๋ม (นามสมมุติผู้หญิงท้องไม่พร้อมคนนี้) วัยเกือบ 40 ปีแล้ว ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 คุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ เพราะสามีไปมีหญิงอื่น นานๆ ครั้งจะกลับมาหาเธอและลูกทั้งสาม จุ๋มต้องการทำหมันตั้งแต่คลอดลูกคนที่สาม แต่โรงพยาบาลชุมชนที่คลอดลูกไม่มีศักยภาพในการทำหมันให้ จึงทำใบส่งตัวให้จุ๋มมาทำหมันที่โรงพยาบาลจังหวัด แต่การที่สามีไปติดพันหญิงอื่น ทิ้งภาระความรับผิดชอบทั้งครอบครัวให้เธอเพียงลำพังอยู่กับทารกหลังคลอดและลูกเล็ก เธอต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอาศัยอยู่ในบ้านเก่าๆ หลังคารั่วในช่วงหน้าฝน ญาติพี่น้องต่างแยกย้ายไปทำงาน เธอต้องเลี้ยงดูลูกๆ คนเดียว ด้วยเหตุนี้ ทำให้ใบส่งตัวทำหมันนั้นไม่ได้ใช้ จึงต้องเปลี่ยนมาคุมกำเนิดด้วยการกินยาคุมแทนแต่ไม่สม่ำเสมอ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ จุ๋มจึงต้องออกจากงานรับจ้างที่มีรายได้ประจำ จุ๋มต้องรับ-ส่งลูกไปโรงเรียน รายได้มีแค่เพียงรับจ้างงานเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงกลางวัน ใครจ้างทำอะไรก็ทำทั้งหมด ส่วนสามีที่เป็นพ่อของลูกจะกลับมาหาเธอและลูกนานๆ ครั้ง ก็ไม่เคยจุนเจืออะไรให้ครอบครัว
จุ๋มได้คิดทบทวนเรื่องราวในชีวิตผ่านการให้บริการปรึกษา เธอตัดสินใจจะฝากบุตรไว้ที่สถานสงเคราะห์ชั่วคราวหลังคลอดโดยไม่ยกบุตรให้ถาวร เพราะต้องการจะเลี้ยงดูเองในวันข้างหน้า เพียงแต่ในช่วงเวลานี้ที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้มาก อดมื้อกินมื้อ ลูกทั้งสามก็ยังอยู่ในวัยเรียน เธอจำต้องเลือกทางฝากลูกไว้กับหน่วยงานรัฐชั่วคราวก่อน
เมื่อตัดสินใจท้องต่อ
นักสังคมสงเคราะห์ ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านเพื่อให้จุ๋มได้ฝากท้อง วางแผนให้ความช่วยเหลือต่อกับพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ประสานและทำหนังสือส่งต่อบ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด ทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ในการพิจารณาขอเงินสงเคราะห์ครอบครัว และเงินช่วยเด็กในครอบครัวยากจน ตามแต่หน่วยงานจะจัดสรรได้
หนึ่งเดือนต่อมา
นักสังคมสงเคราะห์ได้ติดตามไปที่โรงพยาบาลชุมชน พบว่าจุ๋มได้ไปฝากครรภ์สม่ำเสมอตามนัด แต่ยังไม่ได้ข่าวความช่วยเหลือใดๆ จากหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมเลย สอบถามไปทางหน่วยงานที่ส่งต่อไปขอรับความช่วยเหลือ แจ้งว่า “ยังไม่ถึงคิวให้ความช่วยเหลือ” โดยกำหนดความช่วยเหลือไว้ในช่วงใกล้วันคลอด ทีมงานจึงต้องเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหา เพราะชีวิตของจุ๋มนั้นตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ท้องแก่ใกล้คลอด และต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก 3 คน ถือว่าชีวิตครอบครัวอยู่ในช่วงเปราะบาง
ในช่วงที่จุ๋มรอคลอดและยกบุตรเลี้ยงดูชั่วคราวนั้น นักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีข้อมูลว่า หน่วยงานที่จะรับเด็กสามารถรับไปได้เลยหรือไม่หลังคลอด หรือต้องให้จุ๋มเลี้ยงลูกไปก่อน 3 เดือน สำหรับกรณีจุ๋มนั้นหากต้องไปเลี้ยงดูเองก่อนเพื่อรอหน่วยงานรับไปอุปการะ อาจขอความช่วยเหลือจากบ้านพักเด็กและครอบครัวได้ แต่การเข้าพักที่บ้านพักฯ อาจมีปัญหาเพราะลูกๆ ที่บ้านอีก 3 คนจะไม่มีใครดูแล ซึ่งต้องมีแผนช่วยเหลือรองรับ ซึ่งหากดำเนินการในวันคลอดอาจไม่ทัน ทำให้ต้องค้างทารกไว้ในโรงพยาบาลหลังคลอด จุ๋มไม่ได้ฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลจังหวัด จึงเป็นบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจังหวัด ในการประสานกับโรงพยาบาลชุมชนว่าหลังคลอดหากมีปัญหาใดเกิดขึ้นให้ติดต่อบ้านพักเด็กและครอบครัวที่ได้มีการประสานไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการประสานงานกับหน่วยงานในท้องถิ่น นักสังคมสงเคราะห์รับรู้ว่าจุ๋มยังไม่พร้อมให้เข้ามา จึงไม่ได้ประสานขอความช่วยเหลือ แต่หากประเมินพบความเสี่ยงด้านสังคมอื่นๆ ก็ต้องลงไปทำงานกับชุมชนด้วย เพราะว่ากรณีของจุ๋มนั้นปัญหาค่อนข้างซับซ้อน นักสังคมสงเคราะห์จึงระมัดระวังเรื่องการรักษาความลับของผู้ป่วย โดยต้องประเมินความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อขอรับความช่วยเหลือ
หลังคลอด
ช่วงใกล้คลอด บ้านพักเด็กและครอบครัวได้ติดต่อมายังนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อประสานและลงเยี่ยมบ้านประเมินสภาพปัญหาและความช่วยเหลือที่จุ๋มต้องการ แต่หลังจากที่จุ๋มคลอดลูก นักสังคมสงเคราะห์ โทรติดตามช่วงพักฟื้นหลังคลอด จุ๋มตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกเองโดยไม่ฝากเลี้ยงชั่วคราวแล้ว เพราะเงื่อนไขการฝากเลี้ยงคือต้องพาลูกไปเลี้ยงที่บ้านพักเด็กและครอบครัวเองก่อนสามเดือน ทำให้ไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูกอีก 3 คนที่บ้าน สำหรับการคุมกำเนิด เดิมทีโรงพยาบาลชุมชนจะส่งมาทำหมันที่โรงพยาบาลจังหวัด แต่ด้วยสถานการณ์โควิด จึงจำต้องฝังยาคุมกำเนิดไปให้ก่อน และให้มาทำหมันภายหลัง
บทเรียนช่วยผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม
กรณีของจุ๋ม จะเห็นได้ว่าการประเมินความช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อม มิใช่เพียงแค่ช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ต้องประเมินเป็นระยะๆ จนถึงหลังคลอด เพราะเมื่อเหตุการณ์ในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ความคิด ความรู้สึก และทางที่ได้เลือกไว้อาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจะต้องทำหน้าที่ส่งต่อหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมเพื่อการดูแลต่อเนื่อง กรณีจุ๋ม เป็นหนึ่งในผู้หญิงหลายๆ คนที่เผชิญสภาวะเปราะบางในชีวิต และมีปัญหาเศรษฐกิจสังคม นั่นคือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้าไปโอบอุ้มดูแลให้ความช่วยเหลือ เพื่อประคองให้จุ๋มและครอบครัวเดินต่อไปบนเส้นทางที่เลือกได้ และลูกๆ ของเธอได้เติบโตเป็นอนาคตของสังคมไทยได้อย่างมีคุณภาพ
ความคาดหวัง
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทางด้านสวัสดิการสังคม จะเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดี-ให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า ก็ได้แต่ภาวนาให้จุ๋มและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามควรแก่สิทธิที่พึงมีพึงได้ ในวันที่ครอบครัวเปราะบางดูแลตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้จุ๋มและลูกๆ ต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง หน่วยงานรัฐจึงต้องเข้ามาโอบอุ้ม นี่คือหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้เด็กที่เกิดมาบนความไม่พร้อมทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี…..
การที่สังคมไทยไม่สามารถจัดบริการที่จำเป็นให้ทั่วถึงถ้วนหน้าได้ ส่งผลให้กระบวนการสวัสดิการสังคมของไทยตอนนี้เป็นแบบเก็บตก (Residual model of welfare) เสมือนการโปรยทานไปยังกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ แต่กลับเก็บตกได้ไม่หมด ส่งผลให้ลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมและเด็กที่เกิดมาต้องกลายเป็นคนชายขอบ ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และอาจถูกสังคมเบียดขับให้ตกขอบไปในที่สุด
ปาริษา ด้วงทอง นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลตรัง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า “ผู้ชายหายไปไหนเมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม” และนี่คือคำถามธรรมดาสามัญที่ไม่เคยมีคำตอบเลย…