เผยตัวเลขน่าห่วงหญิงไทยท้องไม่พร้อมพุ่งช่วงวิกฤตโควิดแห่พึ่งสายด่วน 1663 หาทางออกอื้อ เฉพาะ พ.ค.กว่า 4 พันราย สะท้อนปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2548 สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ทำงานสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเพิ่มการเข้าถึงสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย นอกจากนั้น สสส.ได้ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงท้องไม่พร้อม เครือข่ายอาสาอาร์เอสเอ (Referral system for Safe Abortion : RSA) และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พัฒนาระบบบริการให้คำปรึกษาเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย 2 ช่องทาง คือ 1.โทรศัพท์ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้คำปรึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือกในการคุมกำเนิด ทางเลือกในกรณีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 2.เว็บไซต์อาร์เอสเอไทย www.rsathai.org ให้คำปรึกษาคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร และทางเลือกในการตั้งครรภ์ ทั้งตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่ได้มีการวางแผนครอบครัว
ทั้งนี้ ข้อมูลการบริการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม พบช่วงการระบาดโควิด-19 มีหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ขอรับบริการปรึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยมีสถิติสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 รวม 4,461 คน เฉลี่ย 149 คนต่อวัน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 26 คน มากกว่าช่วงสถานการณ์ปกติคือ เดือนตุลาคม 2563 ที่มีผู้ขอรับคำปรึกษาเพียง 2,490 คน เฉลี่ย 83 คนต่อวัน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี 16 คน ส่วนใหญ่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์อาร์เอสเอไทย ที่มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ในเดือนพฤษภาคม 2564 สูงถึง 208,022 ครั้ง โดยหน้าที่มีการเข้าถึงสูงสุดคือ หน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ มีการเข้าชมถึง 43,665 ครั้ง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมหลังจากปรึกษาทางเลือก ร้อยละ 70-90 มีความประสงค์ยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากปัจจัยแวดล้อม ทั้งสุขภาพตนเอง ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ทั้งการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการมีภารกิจหลักในการค้นหาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดต่อบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ทั้งการคุมกำเนิด การป้องกันโรค ซึ่งมีผลต่อสุขภาวะทางเพศของคนไทยเป็นอย่างมาก และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยที่ไม่พร้อมหรือไม่ได้มีการวางแผนครอบครัวเพิ่มมากขึ้น สสส.และภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ เห็นตรงกันว่า การป้องกันและแก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นประเด็นสาธารณสุขและต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย
นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษาโครงการอาสาพัฒนาเครือข่ายบริการที่ปลอดภัยเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศให้วัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อม สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA กล่าวว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 เครือข่ายอาสา RSA ได้มีขั้นตอนการทำงาน ดังนี้ 1.พัฒนาบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยระบบโทรเวชกรรม เพื่อใช้เป็นระบบประสานขอความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา กับสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 2.จัดทำใบส่งต่อออนไลน์ ในกรณีที่มีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามจังหวัดรับบริการยุติการตั้งครรภ์กับสถานบริการ โดยระบุในใบส่งต่อฯ ว่า “เข้ารับการรักษาโรคทางนรีเวช” เพื่อป้องกันการตีตราต่อผู้ที่มีปัญหา และ 3.ดูแลระหว่างและหลังยุติการตั้งครรภ์ โดยใช้ช่องทางออนไลน์ให้คำปรึกษา พูดคุย และสอบถามอาการระหว่างแพทย์และผู้มีปัญหา หากเกิดภาวะแทรกซ้อนให้เข้ารับการรักษาทันที พร้อมช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ในภาวะวิกฤต
ด้าน นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บริการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ถือเป็นช่องทางหลักที่ให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ที่มีปัญหาไปยังสถานบริการที่ปลอดภัย ลดอันตรายและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อ ตกเลือด มดลูกทะลุ พร้อมทำให้การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยและคลินิกเถื่อนลดลง ในการนี้ กรมอนามัย มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนสถานบริการจากเดิมอยู่ที่ 38 จังหวัด ให้ครอบคลุม 76 จังหวัด ในปี 2567 เพื่อให้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถเข้าถึงการรับคำปรึกษาและหน่วยบริการรับยุติการตั้งครรภ์ เพื่อสอดรับกับข้อสังเกตของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขฯ สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจ การยอมรับ การเคารพการตัดสินใจของหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้หน่วยบริการทุกแห่งสามารถดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 และ 305 หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ ดังนี้ 1.ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต 2.ตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเพศ 3.เสี่ยงคลอดทารกที่มีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 4.อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติ 5.อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาตามกฎหมาย สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาวะทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ติดต่อ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม หรือเว็บไซต์ www.rsathai.org บริการคำปรึกษาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตร เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือก และตัดสินใจอย่างอิสระ
ที่มา ภาพประกอบ : https://www.posttoday.com/social/general/656550
โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 มิ.ย. 2564