ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยที่มาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญากําหนดให้การกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หรือมาตรา ๓๐๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าเป็นการกระทําของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีตามที่กําหนด ผู้กระทําไม่มีความผิดนั้น
อาศัยอํานาจตามมาตรา ๒ (๓) (ฎ) และมาตรา ๒๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพ เวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ คณะกรรมการแพทยสภาด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘
(๒) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓
ข้อ ๔ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(๑) การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา ๓๐๕ (๑) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นกรณี ที่จําเป็นต้องกระทําเนื่องจาก
(ก) ปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ
(ข) ปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน
(๒) การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา ๓๐๕ (๒) แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(ก) ทารกที่คลอดออกมามีความเสี่ยงอย่างมากที่จะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพ อย่างร้ายแรง เช่น มีความพิการอย่างรุนแรง เป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างร้ายแรง หรือทุพพลภาพประการอื่น อย่างร้ายแรง
(ข) มีการให้คําปรึกษาแนะนําทางพันธุศาสตร์ (genetic counseling) แก่หญิงตั้งครรภ์
(ค) มีการบันทึกผลการตรวจ การให้คําปรึกษาหรือคําแนะนําทางพันธุศาสตร์ และข้อบ่งชี้ ไว้ในเวชระเบียน
(ง) จะต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทําการ ยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน
(๓) การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา ๓๐๕ (๓) แห่งประมวลกฎหมายอาญา หญิงต้องยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนตั้งครรภ์เนื่องจากมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ โดยหญิงอาจให้ข้อเท็จจริงประกอบการยืนยันดังกล่าวได้
(๔) การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา ๓๐๕ (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแนะนําส่งต่อตามระบบ ของสถานพยาบาลโดยไม่ชักช้า
(๕) การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา ๓๐๕ (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องมีเอกสารแสดงว่าได้รับการตรวจและรับคําปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด ในกรณีที่ต้องส่งต่อให้แนะนําส่งต่อ ตามระบบของสถานพยาบาลโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๕ การยุติการตั้งครรภ์ในหญิงที่อยู่ในสภาวะที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ปกครองดูแล
ในกรณีที่ไม่มีผู้ที่จะให้ความยินยอมแทนได้ตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวไม่ให้ความยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีผลประโยชน์ขัดกันกับหญิง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจทําการยุติ การตั้งครรภ์ให้หญิงได้หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของหญิงนั้น
ข้อ ๖ การวินิจฉัยอายุครรภ์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐาน การประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ข้อ ๗ การยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับนี้ให้กระทําในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาล เอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ข้อ ๘ ให้นายกแพทยสภาเป็นผู้รักษาการ และมีอํานาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ศาสตราจารย์เกียรติคุณสมศรี เผ่าสวัสดิ์
นายกแพทยสภา
ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/146/T_0076.PDF
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔