9 ข้อค้นพบและข้อท้าทายที่สำคัญในประเด็นความรุนแรงภายใต้สถานการณ์ท้องไม่พร้อมในมิติทางสังคมของไทย เนื่องในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว 2564
- สังคมไทยมีรูปแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ ผู้ใหญ่คิดว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของพ่อแม่ ต่อมาชีวิตผู้หญิงเป็นของสามี ผลที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการท้าทายวิถีชีวิตของผู้หญิง
1) ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องบนเตียง (ต้องมีเพศสัมพันธ์เมื่อผู้ชายต้องการ) ผู้หญิงไม่กล้าปฏิเสธ
2) ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องการคุมกำเนิด ผู้ชายไม่ใช้ถุงยางอนามัยแต่ผลักภาระให้ผู้หญิงเป็นผู้คุมกำเนิดแทน ผู้หญิงไม่กล้าปฏิเสธแม้ผู้ชายไม่ใส่ถุงยาง กลัวผู้ชายไม่รัก ซึ่งทำให้เกิดการท้องไม่พร้อมสาเหตุเพราะผู้หญิงคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ คุมไม่ถูกวิธี ขาดความรู้ ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องให้ความรู้การคุมกำเนิดด้วย
- การสนับสนุนให้ผู้ชายเกิดทัศนคติและปฏิบัติในแนวทางการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความรับผิดชอบ โดยต้องคำนึงถึงการให้เกียรติผู้หญิง เน้นเรื่องความปลอดภัย ทั้งเรื่องป้องกันการท้องที่ไม่ได้วางแผน และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่ “ร่วมรักอย่างเดียว แต่ไม่ร่วมรับผิดชอบ”
- การให้ผู้หญิงได้รับการเสริมอำนาจในการตัดสินใจคุมกำเนิด ไม่หวั่นเกรงคำพูดที่กล่าวหาว่า “เธอจะมีชู้เหรอ” “เพราะฉันคุมกำเนิดแบบหลั่งภายนอก” ไม่ให้ผู้ชายขัดขวางการคุมกำเนิด
- ผู้ให้บริการจะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ของผู้หญิง ให้บริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไม่ล่าช้า เพื่อป้องกันท้องไม่พร้อม ต้องไม่ปฏิเสธการบริการคุมกำเนิด
- ผู้ให้บริการควรรู้ระบบการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หรือให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามสิทธิของกฎหมายมาตรา 301, 305 ไม่ใช่เรื่องผิดบาป การปฏิเสธ หรือไม่แจ้งข้อมูลมีผลทำให้การยุติการตั้งครรภ์ล่าช้า อาจทำให้ผู้ใช้บริการเลือกไปทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
- ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น ผู้หญิง ในสาขาอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ครู ตำรวจ ให้ความใส่ใจช่วยเหลือให้ผู้หญิง วัยรุ่น เข้าถึงบริการในหน่วยงานที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาท้องไม่พร้อม เช่น ศูนย์พึ่งได้ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตและสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้น โดยเพียงแต่เปลี่ยนชุดความคิดและทัศนคติเดิม ๆ เช่น เป็นเรื่องส่วนตัวของครูกับนักเรียน เป็นเรื่องของการดำเนินคดีผู้ต้องหาชายที่ข่มขืนเด็กผู้หญิงและท้องต้องมีหลักฐาน หรือเด็กจะขาดคนที่เป็นพ่อ
- การมีลูกในวัยรุ่นชายและหญิง ครอบครัวทั้งสองฝ่ายก็ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะครอบครัวที่ใช้สารเสพติด ทำให้เกิดสภาพการเลี้ยงลูกแบบ “ชีวิตถูกโยนไปมาเหมือนลูกบอล” ปัญหาที่แก้ยากมีปัญหาตลอดแก้ไม่หมดเปรียบเป็น “ชีวิตแบบโอ่งที่มีรูพรุน” ควรมีการปรับเปลี่ยนเป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก รู้การตั้งครรภ์เร็ว เข้าสู่ระบบการปรึกษากับผู้ให้บริการเร็ว ให้แม่และวัยรุ่นรู้สิทธิ รู้ช่องทางที่จะเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการ
- ปัญหาการเลี้ยงลูกหลังคลอดในแม่วัยรุ่นมีผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่าย ค่านมผง ค่าแพมเพิร์ส แม่วัยรุ่น กว่า 95% ใช้นมผงเลี้ยงลูก ส่งผลให้กดดันแม่วัยรุ่นมาก มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ผลสำหรับเด็ก เกิดการพัฒนาการช้า ขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่วัยรุ่น แต่อาจได้รับความรักจากยายแทน การกินอาหารไม่ถูกหลัก โดยกินตามพ่อแม่วัยรุ่น เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ ขนมกรุบกรอบ ทำให้เด็กอ้วน และฟันผุ
- ปัญหาวัยรุ่นอยู่ในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ไม่ดีพอ เช่น พ่อเมาเหล้าทั้งวัน ดุด่า ตำหนิ วัยรุ่นลูกสาวตนเองต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะประเด็นความล้มเหลวของการมีคู่ ทำให้วัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้า และมีการกระทำความรุนแรง คิดฆ่าตัวตาย การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ผู้นำชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรมีกลไกดูแลส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีและช่วยแก้ปัญหา
สรุปความโดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล นายกสมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA
จากการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ท้องไม่พร้อม หรือสังคมไม่พร้อม : ความรุนแรงและข้อท้าทายของสังคมไทย” โดยความร่วมมือของ เครือข่ายท้องไม่พร้อม เครือข่ายอาสา RSA ศูนย์พึ่งได้ OSCC สมาคมฯ RSA สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)