WHO issues new guidelines on abortion to help countries deliver lifesaving care
Access to safe abortion critical for health of women and girls: WHO
WHO ออกแนวทางใหม่เกี่ยวกับการทำแท้งฉบับใหม่เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถให้บริการสุขภาพที่ช่วยชีวิตผู้คน
การเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย เป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของผู้หญิง โดย WHO
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกแนวทางเกี่ยวกับการทำแท้งฉบับใหม่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงทั่วโลก และเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าถึงการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยที่ยังคงเกิดขึ้นกว่า 25 ล้านครั้งในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในประเทศที่การทำแท้งยังมีความผิดทางกฎหมาย ประเทศที่ไม่มีบริการทำแท้งที่ปลอดภัยหรือมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงประเทศที่ให้บริการทำแท้งด้วยวิธีการที่ล้าสมัย มีความเสี่ยงสูงและไม่ปลอดภัย
การทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นการให้บริการสุขภาพที่จำเป็น การตายและการบาดเจ็บอันเกิดจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเกือบทั้งหมดไม่ควรเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
แนวทางเกี่ยวกับการทำแท้งฉบับใหม่นี้ได้รวบรวมข้อมูลจากคู่มือของ WHO ฉบับก่อนหน้าทั้งหมด และอัปเดตให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการออกนโยบายล่าสุด WHO รวบรวมคำแนะนำต่าง ๆ กว่า 50 ข้อเข้ามาไว้ด้วยกัน ทั้งในส่วนของเวชปฏิบัติ การให้บริการสุขภาพ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการทำแท้ง
แนวทางและคำแนะนำใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการ
การทำแท้งที่ดำเนินการตามวิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เหมาะสมต่ออายุครรภ์ และอยู่ในการดูแลช่วยเหลือโดยบุคลากรที่มีข้อมูลที่จำเป็นและ/หรือ มีทักษะในการให้บริการ เป็นกระบวนการการทำแท้งที่เรียบง่ายและมีความปลอดภัยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนนำมาซึ่งข้อมูลและวิธีการการทำแท้งที่เรียบง่ายและปลอดภัย แต่กลับมีเพียงครึ่งหนึ่งของการทำแท้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกเท่านั้นที่เป็นการทำแท้งด้วยวิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัย
ในทุก ๆ ปีมีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 39,000 คน และมีผู้หญิงอีกหลายล้านคนที่ต้องถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการแทรกซ้อนจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย แทบทั้งหมดของกรณีเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ (เช่น กว่า 60% ในทวีปแอฟริกาและ 30% ในทวีปเอเชีย) รวมถึงผู้หญิงที่ยากจน หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางอื่น ๆ
แนวทางฉบับใหม่นี้ยังได้รวมคำแนะนำในการช่วยเหลือผลักดันให้การทำแท้งเป็นการดูแลสุขภาพในขั้นปฐมภูมิอย่างง่าย โดยเฉพาะในครรภ์ระยะเริ่มแรก เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการทำแท้งและเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสะดวกเรียบง่ายของการทำแท้งอีกด้วย ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้รวมไปถึงการอนุญาตให้บุคลากรด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนมาแล้วสามารถให้บริการได้ รับรองการให้บริการทำแท้งด้วยยา และทำให้แน่ใจว่าผู้ที่ต้องการทำแท้งจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นต่อการทำแท้งอย่างปลอดภัยได้เสมอ
ในแนวทางฉบับใหม่นี้มีการรวมเอาคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ระบบโทรเวช หรือ Telemedicine เข้ามาเป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการยาทำแท้งได้โดยตรง เช่น การรับบริการกับเภสัชกรโดยตรง ระบบโทรเวชหรือ Telemedicine ไม่เพียงช่วยให้บริการทำแท้งและการวางแผนครอบครัวยังคงดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริการสุขภาพด้านอื่น ๆ อีกมากมาย และยังคงเป็นแนวทางในการให้บริการที่มีความเกี่ยวเนื่องและจะดำเนินต่อไปในอนาคตอีกด้วย แน่นอนว่าโทรเวชได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการให้บริการหลาย ๆ ด้านเกี่ยวกับบริการสุขภาพ และด้วยบริการทำแท้งด้วยยาผ่านระบบโทรเวชนี้เองทำให้การทำแท้งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เช่นตัวอย่างการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในเกาะบริเตนใหญ่ (อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลช์ และ ไอร์แลนด์เหนือ)
แนวทางใหม่เรียกร้องให้มีการยกเลิกกำแพงด้านกฎหมายและนโยบายที่ล้าสมัยและไม่จำเป็น
นอกจากคำแนะนำด้านเวชปฏิบัติ การให้บริการสุขภาพแล้ว แนวทางฉบับใหม่นี้ยังแนะนำให้ยกเลิกข้อกำหนดหรือกำแพงเชิงนโยบายที่ไม่จำเป็นในทางการแพทย์ต่อการทำแท้งที่ปลอดภัยออก เช่น การเอาผิดทางอาญา การกำหนดระยะเวลารอคอยตั้งแต่การขอรับบริการจนถึงการขั้นตอนการรับบริการ การรอรับการอนุมัติจากบุคคลที่ 3 (เช่น แพทย์อื่น ๆ หรือคู่ครอง สมาชิกในครอบครัว หรือคำสั่งศาล) และการจำกัดการทำแท้งให้สามารถทำได้ ณ อายุครรภ์หนึ่ง ๆ เท่านั้น
กฎหมายและกำแพงเหล่านี้ทำให้การเข้าถึงบริการเป็นไปอย่างล่าช้า และเป็นการผลักให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นที่จะหันไปหาบริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงเป็นการขัดขวางการเรียน หรือการทำงานของผู้หญิงโดยไม่จำเป็น
ประเทศส่วนใหญ่ยังจำกัดการทำแท้งให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์เฉพาะเท่านั้น ขณะที่มีเพียงประมาณ 20 กว่าประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้โดยไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมาย อีกมากกว่า 75% ของประเทศต่าง ๆ ยังมีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการทำแท้ง ที่รวมไปถึงการกำหนดโทษจำคุกระยะยาว หรือ โทษปรับที่รุนแรงต่อผู้ที่ทำแท้งและผู้ที่ให้ความช่วยเหลือให้เข้าถึงการทำแท้งด้วย
ดร. บีล่า คนาตรา (Dr. Bela Ganatra) หัวหน้าหน่วยป้องกันการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย แห่งองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่การทำแท้งหนึ่ง ๆ จะต้องปลอดภัยในทางการแพทย์ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ การให้บริการการทำแท้งต้องเคารพการตัดสินใจและความจำเป็นต่าง ๆ ของผู้หญิงเอง และ (ผู้หญิงที่รับบริการ) ต้องได้รับการปฎิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและปราศจากการตีตราหรือการตัดสินเฉกเช่นเดียวกับการให้บริการสุขภาพอื่น ๆ ไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายหรือทำอันตราย เช่น การถูกแจ้งความ หรือการถูกคุมขังเพียงเพราะต้องการเข้าถึงบริการการทำแท้งที่ปลอดภัย”
หลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่า การจำกัดการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยไม่ได้ลดจำนวนการทำแท้งลง การจำกัดการเข้าถึงบริการเหล่านี้กลับเป็นการผลักให้ผู้หญิงต้องหันหน้าไปหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
ดร.บีล่ากล่าวเสริมอีกว่า “หลักฐานก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากคุณต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย คุณต้องให้บริการที่ครบวงจรให้กับผู้หญิง ต้องให้ข้อมูลเรื่องเพศศึกษา ข้อมูลและบริการการวางแผนครอบครัวที่ถูกต้องแม่นยำ รวมถึงบริการการทำแท้งที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ”
หลังจากการออกแนวทางเกี่ยวกับการทำแท้งฉบับใหม่นี้ องค์การอนามัยโลกจะให้การสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ที่สนใจที่จะนำแนวทางฉบับนี้ไปใช้ปฏิบัติจริง และพัฒนาการออกนโยบายแห่งชาติหรือโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว และบริการทำแท้งให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถสร้างมาตรฐานในการบริการสุขภาพที่สูงที่สุดให้กับผู้หญิงได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
แนวทางเกี่ยวกับการทำแท้งฉบับใหม่ล่าสุดขององค์การอนามัยโลกได้อัปเดตข้อมูลจากฉบับก่อนหน้าซึ่งออกมาในปี 2555 ซึ่งในฉบับใหม่นี้ได้รวบรวมคำแนะนำต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่เอาไว้ด้วยกัน สามารถดูเอกสารฉบับดิจิทัลได้ที่ : https://srhr.org/abortioncare
สามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลที่โต้ตอบได้ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้ง การออกนโยบายเกี่ยวกับการทำแท้ง มาตรฐานด้านสุขภาพและแนวทางการปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ อย่างครบถ้วนรอบด้านได้ที่ : https://abortion-policies.srhr.org
แปลและเรียบเรียงโดย
สุรีพร หาวันชำนาญกิจ