วันนี้ (26 พฤษภาคม 2565) ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม นำโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ร่วมกับภาคีเครือข่าย องค์กรที่ทำงานกับผู้หญิง เด็ก เยาวชน และบุคคลหลากหลายทางเพศ ในด้านสิทธิ สุขภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม รวม 36 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “การเร่งรัดจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (5) และการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่นี้อย่างกว้างขวาง
ประเทศไทยได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ตามพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 บัดนี้ผ่านไป 16 เดือนแล้ว พบว่ากฎหมายลูกตามมาตรา 305(5) ซึ่งคือหลักเกณฑ์และการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ก็ยังไม่มีการประกาศใช้แต่ประการใด ทั้งที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ ผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และผู้แทนภาคประชาสังคม รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวนหลายครั้ง จนปรากฏเป็นร่างประกาศฯ นำไปเปิดประชาพิจารณ์และปรับแก้ไขเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 แต่จนถึง ณ เวลานี้ก็ยังไม่มีการประกาศกฎหมายอนุบัญญัติฉบับนี้แต่ประการใด
การยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นบริการสุขภาพตามนิยามความหมายขององค์การอนามัยโลก ความล่าช้าของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์และการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ทำให้ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการสุขภาพและสังคม ส่งผลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ เสียโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายใหม่ที่บัญญัติขึ้นมานี้ นอกจากนี้การชะลอการขับเคลื่อนความเข้าใจในภาพรวมเนื่องจากรอประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ยังส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมาก รวมทั้งผู้ให้บริการสุขภาพ เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการทำแท้งในอายุครรภ์ที่มากกว่า 12 สัปดาห์นั้นผิดกฎหมาย จึงแสวงหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยนอกระบบบริการสุขภาพซึ่งทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพและการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น สำหรับกลุ่มที่เลือกตั้งครรภ์ต่อไปภายใต้ความไม่พร้อมนั้น ขาดข้อมูลจากการปรึกษาทางเลือกว่าสามารถขอรับความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคมเพื่อการเลี้ยงดูบุตรได้หากเลือกตั้งครรภ์ต่อไป ทั้งที่การตั้งครรภ์ คลอด และเลี้ยงดูทารกในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2564 นับเป็นความท้าทายที่ยากยิ่ง และไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเกิดที่มีคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข
การที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถประกาศหลักเกณฑ์และการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกได้ ยังส่งผลต่อการขับเคลื่อนความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งฉบับใหม่ในภาพรวมด้วย ทั้งนี้พบว่าบุคลากรสุขภาพจำนวนมากยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในกฎหมายนี้ อาทิเช่น ยังคงเข้าใจว่าการทำแท้งผิดกฎหมายทุกกรณี หรือทำได้ถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เท่านั้น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จากความผิดทางเพศก็ต้องไปแจ้งความกับตำรวจก่อนจึงจะได้รับบริการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าสถานบริการสุขภาพของรัฐจำนวนมากยังไม่เปิดบริการสุขภาพด้านการยุติการตั้งครรภ์ แม้ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งไม่มีความผิดทางอาญาใด ๆ ส่งผลให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจำนวนมากยังต้องใช้บริการทำแท้งเถื่อน ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายนั้นอาจไม่มีผลทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ ได้รับบริการที่ปลอดภัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้
จากปรากฎการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทางเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ร่วมกับสมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA และภาคีดังมีรายนามข้างล่างนี้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดังต่อไปนี้
- เร่งรัดให้ประกาศหลักเกณฑ์และการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ มาตรา 305(5) มีการประกาศใช้โดยเร็ว ทั้งนี้หากสาระสำคัญของประกาศหลักเกณฑ์และการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก แตกต่างจากฉบับที่เคยได้มีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ขอให้พิจารณาให้มีการทำประชาพิจารณ์อีกครั้งก่อนลงนามโดยรัฐมนตรี
- ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนและสร้างความเข้าใจให้สถานบริการสุขภาพในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยเกณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อกฎหมายตามมาตรา 305 ทุกอนุมาตรา โดยเฉพาะในกรณีที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ตามมาตรา 305 (4) ให้ได้รับบริการจริงที่สอดคล้องกับสิทธิตามกฎหมาย เพื่อให้การทำแท้งเถื่อนลดและหมดไปจากประเทศไทย
- สร้างและพัฒนาระบบส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ชัดเจนและเป็นจริง สำหรับโรงพยาบาลในระดับชุมชนที่ศักยภาพด้านการรักษามีอย่างจำกัด โดยเฉพาะในกรณีที่อายุครรภ์สูงกว่า 12 สัปดาห์ที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ของกฎหมาย ให้เข้าถึงบริการได้อย่างไม่ชักช้าเนื่องจากอายุครรภ์ที่สูงขึ้นคือความเสี่ยงสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
- สร้างและพัฒนากลไกรองรับที่ชัดเจน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เลือกตั้งครรภ์ต่อตามมาตรา 305(5) ให้ได้รับความช่วยเหลือในด้านโอกาสการศึกษาและสวัสดิการสังคมอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถตั้งครรภ์ต่อ คลอดบุตร และเลี้ยงดูบุตรได้อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข
รายชื่อภาคีที่ร่วมลงนาม
- สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA
- กลุ่มทำทาง
- สายด่วน 1663 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
- สมาคมเพศวิถีศึกษา
- มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
- แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
- เครือข่ายสุขภาพและโอกาส
- เครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว
- Women Help Women, Thailand
- Women on Web, Thailand (วีเม่น ออน เว็บ/ ประเทศไทย)
- Queer Riot
- V-Day Movement
- มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน(north net) จังหวัดเชียงใหม่
- มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
- สหทัยมูลนิธิ
- เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
- เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม
- เครือข่ายความหลากหลายทางเพศภาคอิสาน
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
- สถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม (สพมส.)
- สถาบันนวัตกรรมทางการศึกษา
- สมาคมพราว (สมุทรสาคร)
- สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.)
- องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
- องค์กรน้ำคว้านหลากสี จังหวัดพะเยา
- กลุ่มทีค พลังทรานส์ ชุมชนชายข้ามเพศ ทอม (FTX)
- กลุ่มเยาวชนศีขรภูมิ (Sikhoraphom Youth)
- กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่
- สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนา
- เครือข่ายสร้างเสริมและพัฒนา Gender Studies and Justice in Thailand
- เครือข่ายสลัมสี่ภาค
- ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มูลนิธิผู้หญิง