ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกอบด้วยองค์กร กลุ่ม และเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค สุขภาวะของเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แรงงานไทย รัฐวิสาหกิจ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี พนักงานบริการ องค์กรด้านแรงงาน และผู้ให้บริการสุขภาพ รวม 130 องค์กร เราตระหนักว่าการที่ประชาชนไทยจะมีสุขภาพที่ดีนั้น รัฐพึงจัดบริการสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ 1) สร้างเสริมสุขภาพ 2) ป้องกันโรค 3) รักษาพยาบาล และ 4) ฟื้นฟูสุขภาพ ให้ครอบคลุมประชาชนทั้ง 66.3 ล้านคนอย่างถ้วนหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ สิทธิสุขภาพของผู้ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง คือ สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ รัฐสาหกิจ ท้องถิ่น และอื่น ๆ จำนวนประมาณ 20 ล้านคน ครอบคลุมเฉพาะด้านรักษาพยาบาลเท่านั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้อาศัยมติคณะรัฐมนตรีในแต่ละปี เพื่อจัดสรรงบประมาณด้านสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพที่ขาดหายไปในสิทธิสุขภาพอื่น ๆ ให้ครอบคลุมคนไทยถ้วนหน้า
จากการที่ สปสช. โดยคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ต่อข้อเสนอหลักเกณฑ์และการดำเนินงานการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่เกี่ยวข้องกับ 1) บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 3) บริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนและ 4) บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสิทธิดังกล่าวคุ้มครองคนไทยมานานกว่า 20 ปี แต่ทว่าในปีงบประมาณ 2566 ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทักท้วงว่า สปสช. ไม่ควรมีอำนาจในการดูแลสิทธิอื่นนอกเหนือจากกลุ่มบัตรทอง ส่งผลให้บริการดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทอง 47 ล้านคนเท่านั้น ส่วนผู้มีสิทธิสุขภาพนอกบัตรทอง ซึ่งครอบคลุม ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ พนักงาน-ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ พนักงานองค์กรอิสระ พนักงานองค์กรมหาชน พนักงานกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมทั้งภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 เช่น พนักงานบริษัทเอกชน โรงงาน ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และอื่น ๆ ที่เดิมเคยได้รับบริการสร้างเสริมป้องกันโรค 4 ด้านนี้ ได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการสร้างเสริมป้องกันโรค
ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในนามของผู้ได้รับผลกระทบจากการเสียสิทธิสุขภาพ เห็นว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็น “สิทธิสุขภาพ” ที่ประชาชนได้มาจากเงินภาษีของทุกคน นอกเหนือไปจากสิทธิการรักษาพยาบาล จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรให้ประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยก และหากการส่งเสริมสุขภาพและกลไกการควบคุมป้องกันโรคไม่สามารถเข้าถึงประชาชนไทยได้ทั่วถึงเท่าเทียม ประเทศไทยอาจเข้าสู่วงจรปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ได้
ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความความเข้าใจและทวงคืนสิทธิสุขภาพฯ ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยจัดกิจกรรมเป็นสองส่วน คือ เสวนาวิชาการและแถลงข่าวในภาคเข้า ณ ห้อง 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากนั้น จะยื่นจดหมายเปิดผนึกฯ ให้กับเลขาธิการ สปสช. และจะเดินทางไป ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ยื่นจดหมายเรียกร้องการคืนสิทธิฯ ให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน
กำหนดการเสวนาวิชาการแถลงข่าวและยื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “คืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน” วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และที่ทำการพรรคภูมิใจไทยจัดโดย ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
09.30 น. – 09.45 น. กล่าวเปิดการประชุม ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
09.45 น. – 11.30 น.เสวนาวิชาการ เรื่อง “คืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน” ดำเนินรายการเสวนา โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
1. สิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและสภาพปัญหาในปีงบประมาณ 2566 โดย คุณนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. ผลกระทบจากการตัดสิทธิสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มนอกบัตรทอง โดย คุณทัศนัย ขันตยากรณ์ ตัวแทนเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และเครือข่ายอาสา RSA
3. ผู้เสียสิทธิสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคคิดอย่างไร ? โดย คุณอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
4. แนวทางการแก้ไขปัญหาให้คนไทยเข้าถึงสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือผู้แทน
11.30 – 12.30 น. แถลงข่าว “คืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน” โดย คณะผู้แทนภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน
13.30 – 14.00 น. คณะผู้แทนภาคีฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกฯ ให้กับเลขาธิการ สปสช. ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
15.00 – 16.00 น. คณะผู้แทนภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องการคืนสิทธิฯ ให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย
ถ่ายทอดสดกิจกรรมตลอดวัน ไปยังเฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายท้องไม่พร้อม และ RSATHAI
รายนามภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค